ความหมายของการอยู่ไฟ
หลักการ วิธีและประโยชน์
ของการอยู่ไฟ
คุณแม่หลังคลอดบุตร
"การอยู่ไฟและวิธีการอยู่ไฟ" เป็นวิธีโบราณของไทยแต่เดิมมา ที่ผู้สูงวัยต่างสอนให้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกทุกคนได้ทำการอยู่ไฟ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มดลูกกลับเข้าอู่เร็ว สุขภาพดี มีน้ำนมมาก รวมทั้งได้รับการอยู่ไฟ สมัยก่อนยังกำหนดให้สามีคอยดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือให้ภรรยาได้อยู่ไฟ ได้มีส่วนร่วมในการคลายความเหนื่อยล้า เจ็บปวด และความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก
ภูมิปัญญาเรื่อง "การอยู่ไฟหลังคลอดบุตร" ของคนไทย มีกรรมวิธีประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทุกภูมิภาคของเมืองไทย แต่รายละเอียดในการปฏิบัติอาจจะแปลกแตกต่างกันออกไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น แต่ละภาคชาวบ้านบางแห่งเชื่อว่า การอยู่ในที่ร้อน ดื่มน้ำร้อน อาบน้ำร้อน เป็นการพักพื้นเพื่อสะสมกำลังให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ทำงานหนักได้ ไม่ปวดเมื่อย ต่อสู้กับโรคภัยต่าง ๆ ได้ ไม่มีอาการหนาวสะท้านเมื่อถูกลมฝน โดยเชื่อว่าผลกระทบต่าง ๆ อาจเกิดทันที หรือปรากฏอาการให้เห็นเมื่ออายุมากขึ้น
อย่างไรก้ตาม ด้วยพฤติกรรมการทำงานและความเป็นอยู่ที่ทั้งชายและหญิงต้องทำงานนอกบ้าน ทำให้การอยู่ไฟต้องปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้กิจวัตรแต่ละอย่างยังคงความสมบูรณ์
วิธีการอยู่ไฟที่มีในสมัยเก่าก่อนนั้นมีด้วยกันหลายวิธี เช่น
- การนั่งถ่าน เป็นการรมควันจากการเผาสมุนไพร ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะในการกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ช่วยขับน้ำคาวปลา ทำความสะอาดแผลฝีเย็บและช่องคลอด สมานแผลบรรเทาอาการเจ็บปวดแผล ลดการติดเชื้อหลังคลอด สมุนไพรที่ใช้ได้แก่ ผิวมะกรูด ว่านน้ำ ว่านนางคำ ไพล ขมิ้นอ้อย ชานหมาก ชะลูด ขมิ้นผง และใบหนาด นำมาหั่นให้ละเอียด แล้วเอาไปตากแดด เวลาใช้ให้หยิบทีละ 1 หยิบมือ โรยบนเตาไฟขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดควันลอยขึ้นรมกันของผู้ที่อยู่ไฟ เพื่อสมานแผลบริเวณฝีเย็บ
- การเข้ากระโจม คือการนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิด เช่น มาต้มในกระโจม เพื่อให้ได้ไอน้ำจาการต้ม ซึ่งจะต้องอยู่ในที่มิดชิดเพื่อให้ร่างกายได้รับไอน้ำอย่างทั่วถึง ก่อนเข้าให้เอาว่านนางคำ มาฝนหรือตำ คั้นเอาน้ำผสมกับเหล้าและการบูร ทาร่างกายของผู้ที่อยู่ไฟ กระโจมมักทำด้วยซี่ไม้ไผ่ ทำเป็นโครงเหมือนมุ้งประทุน เอาผ้าคลุมให้มิดชิด ต่อท่อจากหม้อต้มยาเข้าในกระโจม ตำรับยาที่ใช้ต้ม ประกอบด้วยเปลือกส้มโอ ใบส้มป่อย ว่านน้ำ ตะไคร้ มะกรุด ผักบุ้งล้อม และเกลือ เป็นต้น เพื่อบำรุงผิว ป้องกันฝ้าและน้ำเหลืองเสีย ใช้เวลาเข้ากระโจมนานประมาณครึ่งชั่วโมง
- การประคบสมุนไพร เป็นวิธีการที่ช่วยทำให้แผลฝีเย็บแห้งดี และลดการอักเสบ ลดการคัดของเต้านม ทั้งยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังคลอดบุตร 7 วัน สามารถประคบด้วยลูกประคบ ซึ่งมีตัวยาหลักคือ ไพล ตะไคร้ ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ผิวมะกรูด เถ้าขมิ้นอ่อน ใบส้มป่อย ใบมะขาม การบูร การประคบตัว ใช้ว่านนางคำ ไพล ขมิ้นอ้อย ใบมะขาม ใบส้มป่อย ตำแล้วเคล้ากับเกลือ นำไปห่อทำเป็นมัด แล้วไปแช่น้ำต้มยาที่ใช้ในการเข้ากระโจมที่เหลืออยู่ ประคบตามตัวและเต้านม และนั่งทับลุกประคบ เพื่อลดอาการเจ็บปวดและคัดเต้านม ทำทุกวันจนกระทั่งออกไฟ
- การทับหม้อเกลือหรือการนาบหม้อเกลือ เป็นการดูแลคุณแม่หลังคลอดให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้น้ำคาวปลาไหลสะดวก บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยลดไขมันสะสมที่หน้าท้อง โดยการนำเกลือสมุทรใส่หม้อดินตั้งไฟให้ร้อน แล้วนำมาผสมสมุนไพร เช่น ไพล ว่านนางคำ ว่านชักมดลุก ใบพลับพลึง เป็นต้น จากนั้นใช้ผ้าห่อ แล้วนำมาประคบตามหน้าท้อง แขน ขา น่อง ความร้อนจากหม้อเกลือจะค่อย ๆ ปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง และสกัดสมุนไพรสดชื่น ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย มีตัวยาออกฤทธิ์โดยตรงต่อสุขภาพ การทับหม้อเกลือหลังคลอดลูกนั้น บางสูตรใส่เกลือลงในหม้อตาลที่มีฝาปิด ตั้งไฟเผาจนร้อนจัดให้เกลือในหม้อตาลมีเสียงปะทุจึงยกหม้อเกลือวางบนใบละหุ่งหรือใบพลับพลึง แล้วเอาผ้าห่มหม้อตาลที่รองด้วยใบพลับพลึง นำไปนาบบริเวณหัวเหน่า ทำวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้ามืดและบ่ายทำอย่างน้อย 3-4 วัน เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
- การทอดเตาไฟ เตรียมเตาสำหรับอยู่ไฟ โดยนำต้นกล้วยที่ผ่าครึ่งวางบนแคร่แล้วเอาดินโรยก่อนจะจุดไฟ เรียกว่า "ทอดเตาไฟ" แล้วให้หญิงคลอดบุตรนอนด้านข้างเตา
- การย่างไฟ คือนอนบนแคร่ และนำเตาไฟ 2-3 เตา วางอยู่ใต้แคร่ซึ่งจะพบได้ในแถบภาคอีสานและชาวญวน ก่อนจะอยู่ไฟต้องมีการดับพิษไฟโดยหมอจะเคี้ยวข้าวสารกับเกลือเสกคาถา แล้วเป่าพ่นลงที่ท้องของหญิงคลอดบุตร เพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อนของการอยู่ไฟ เป็นการเสริมกำลังใจให้คลายอาการกลัวความร้อนลงได้บ้าง ก่อนขึ้นนอนบนแคร่ ต้องมีการ "เข้าขื่อ" ก่อน คือนอนตะแคงให้หมดตำแยเหยียบสะโพก เพื่อให้กระดูกเชิงกรานที่ครากจากการคลอดให้กลับเข้าที่ วิธีนี้จะช่วยป้องกันปัญหาของโครงสร้างกระดูกสันหลังที่จะผิดปกติตามมาในอนาคต และผู้อยุ่ไฟต้องนุ่งเตี่ยวหรือผ้าถุง มีขมิ้นกับปูนแดงผสมเหล้า เอาสำลีชุบปิดสะดือ และทาท้อง-หลังไว้เสมอ เพื่อดับพิษร้อนและรักษาร่างกาย
- การรมตา มีการใช้ยาโรยบนถ่านไฟสำหรับรมตา ป้องกันตาแฉะ ตาอักเสบ และมีน้ำโอ่งหรือไหนึ่งไว้ข้างเตา สำหรับตักน้ำราดดับไฟเพื่อไม่ให้ความร้อนมากเกินไป และยังใช้น้ำนั้นดื่มได้ด้วย
- อาหารของผู้ที่อยู่ไฟ จะกินข้าวกับปลาแห้งหรือกินข้าวกับเกลือ ปลาจะมีโปรตีนที่ย่อยง่าย รับประทานผัก บางวันมีแกงเลียงใส่ผักต่าง ๆ เพื่อเพิ่มน้ำนมแม่และอาหารที่มีบวบ ตำลึง หัวปลี เป็นการกินข้าวซ้อมมือผสมเกลือมีประโยชน์คือ ชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับเหงื่อ เพราะความร้อนขณะอยู่ไฟ หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่เชื่อว่าจะทำให้แสลง เช่น อาหารที่ย่อยยากหรือคาวจัด รสจัด อาหารหมักดอง เป็นต้น
- กินยาตำรับแก้โลหิตเป็นพิษ จนกว่าจะออกไฟ และมดลูกเข้าอู่
- การกล่อมมดลูก ในระหว่าง 3-7 วันหลังคลอด หมอตำแยหรือผู้ให้บริการการอยู่ไฟจะมาฝืนท้องให้ทุกวัน คือเอามือกด-ดันตรงหัวเหน่า เพื่อช้อนให้มดลูกเข้าอู่ แล้วคลึงที่หัวเหน่าให้ปากมดลูกหดเข้าที่ เรียกว่า "การกล่อมมดลูก" ตอนกล่อมมดลูกจะมีน้ำคาวปลาทะลักออกมา ทำให้ผู้ที่อยู่ไฟรู้สึกสบาย
......................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
......................................................................................
ประโยชน์ของการอยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอดบุตร
ร่างกายของคุณแม่หลังการคลอดบุตร จะมีความย่ำแย่ลง น้ำหนักตัวมาก ผนังหน้าท้องที่ยังหนามาก กระดูกข้อต่อเชิงกรานที่ยังหลวม อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย เลือดลมมาไม่ปกติ บางคนมีภาวะท้องผูก หน้าท้องแตกลาย ขาบวม ผิวพรรณหมองคล้ำและรอยคราบด่างดำ ยังคงอยู่มากน้อยต่างกันไป หลายคนมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว และมีอาการหนาวสะท้านด้วย
ภูมิปัญญาอัศจรรย์ของคนไทยในสมัยโบราณ ใช้วิธีการอยู่ไฟนาน 7-30 วัน เพื่อให้เกิด "ประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่หลังการคลอดบุตร" เป็นการปรับสมดุลของธาตุทั้งสี่ อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยทำให้มดลูกแห้ง และเข้าอู่เร็วขึ้นทำให้หน้าท้องยุบเร็ว คืนความสดใส คืนความงดงามและความสะบายตัวจากการอยู่ไฟด้วย
► หลังคลอดบุตร สภาพคุณแม่ส่วนใหญ่ที่ผ่านการอุ้มท้องเป็นเวลานานถึง 9 เดือน และผ่านการคลอดจะเป็นดังนี้
คุณแม่หลังคลอดบุตร ทุกคนจะมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอ เพราะสูญเสียพลังงานไปมาก อีกทั้งภาวะจิตใจก็ยังไม่คงที่ เนื่องจากฮอร็โมนในร่างกายไม่ปกติ คุณแม่หลังคลอดบางคนจึงมีอาการซึมเศร้าหรือไม่ก็เกิดอารมณ์ที่แปรปรวน
ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดบุตร
ที่ไม่ได้รับการอยู่ไฟ
ร่างกายไม่ได้ถูกปรับอุณหภูมิให้อยู่ในสภาพที่ปกติ จึงเกิดอาการที่โบราณเรียกว่า "สะบัดร้อน สะบัดหนาว" คือจะเกิดอาการหนาวสั่นได้ง่าย หรือบางครั้งแม้อยู่ในอากาศเย็นกลับรู้สึกร้อนเหงื่อท่วมร่างกาย ที่สำคัญคืออาการเหล่านั้นมักจะคงอยู่ไปตลอด ซึ่งหากคุณแม่หลังคลอดเลือกที่จะอยู่ไฟ ก็เท่ากับเป็นการปรับสมดุลร่างกายและจิตใจให้อยู่ในสภาพที่ปกติ และยังเป็นการดูแลสุขภาพของตัวเองในระยะยาวอีก
คุณแม่ยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ มักจะมองหาวิธีการอยู่ไฟภูมิปัญญาไทยสมัยโบราณมาพัฒนาให้ทันสมัย สะดวกสะบายและไม่ยุ่งยาก ที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาหลังคลอดดังกล่าวมา และคุณแม่เหล่านี้จะคาดหวังว่าอยู่ไฟไปแล้วช่วยในเรื่องได้รับความงดงามและความสบายตัวจากการอยู่ไฟด้วย
♦เรียบเรียงบทความ
"ความหมายของการอยู่ไฟ หลัการ วิธี ประโยชน์ของการอยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอดบุตร"
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
|