ยาแผนโบราณ
ตำรับยาสมุนไพรวัดโพธิ์
สำหรับรักษาโรค
หมอพื้นบ้านหรือการแพทย์แผนไทย ยอมรับในสรรพคุณอันแสนวิเศษของยาแผนโบราณตามตำรายาสมุนไพร ตำรับเก่าแก่วัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งเป็นยาสมุนไพรแผนโบราณขนานเอกที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความเชื่อถือในการรักษาโรคมาเนิ่นนานแล้ว สมกับคำที่กล่าวไว้ว่า "นวดแผนโบราณ ยาแผนโบราณ ตำรายาสมุนไพร ต้องวัดโพธิ์ ภูมิปัญญาของคนไทยทั้งชาติของบรรพบุรุษไทย"
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคเหน็บชา"
เมื่อมีอาการปวดเมื่อยที่น่อง ขาและแขน จนทำให้รู้สึกว่าเวลาเดินจะหนักน่อง ส่วนขาและแขนก็รู้สึกปวดและสั่นเป็นเหน็บ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยสะดวก เหนื่อยง่ายและหอบทำให้อ่อนเพลีย บางคนเป็นแล้วบวน บางคนเป็นแล้วผอมลงและซีด ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ ยาดำ, พริกไทย, การบูร, ข่า, ใบมะกา, ดีเกลือ, แก่นขนุน
นำส่วนผสมทั้งหมดอย่างละ ๑ ส่วน มาต้มสำหรับรับประทาน ส่วนยาสำหรับทาให้ผสมตามสัดส่วนดังนี้
♦ การบูร ไพล ผิวมะกรูด น้ำมันมะพร้าว ว่านนางคำ
นำทั้งหมดในอัตราส่วนเท่ากันมาต้มและใช้สำหรับทา
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคบาดทะยัก"
เกิดจากอาการเป็นแผลเรื้อรังและมีเชื้อโรคเข้าไป มีอาการขากรรไกรแข็ง เจ็บที่เส้นเอ็นและกระตุก เป็นหนักอาจทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แข็งเกร็งและหนักที่สุดก็คือ หายใจไม่ออกถึงแก่ชีวิตได้
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ สีเสียด, หญ้าพันงูขาว
นำส่วนผสมทั้งสองอย่าง ๆ ละ ๑ ส่วน มาบดและคลุกกับเหล้า บีบคั้นน้ำใช้สำหรับดื่มรับประทาน ส่วนกากที่เหลือให้ใช้พอกแผลที่ติดเชื้อ ยังจะเป็นการแก้ปวดและชักได้อีกด้วย
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคตานขโมย"
โรคตานขโมยมักเกิดกับเด็ก มีอาการท้องเดิน อุจจาระมีกลิ่นคาวและกะปริดกะปรอย เป็นมากขึ้น อุจจาระจะเป็นมูกเลือด ทำให้เด็กมีอาการซูบซีด ผอมอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร พุงโตขึ้น ดวงตาขุ่นมัว ร้องไห้งอแงได้ทั้งวัน ตัวร้อนแต่มือเท้าเย็น ปวดศีรษะ หัวใจเต็นเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายได้
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ รากหญ้าใต้ใบ, รากชิงชี่, รากก้างปลา, รากขี้กา, รากขอบชะนาง, รากเล็บมือนาง, รากกะเพรา, รากตาล, รากเทียนต้น, รากทับทิม, รากมะกอก, เปลือกไข่เน่า, ใบกระพังโหม, ขมิ้นอ้อย, บอระเพ็ด, กระทืบยอด
นำส่วนผสมทั้งหมดอย่าง ๆ ละ ๑ ส่วน มาต้มกับน้ำมะพร้าวห้าว ๓ ลูก และรับประทานครั้งละ ๑ ช้อน
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคขี้กลาก"
เป็นอาการของโรคผิวหนัง เกิดจากความสกปรก จะมีผื่นสีขาวและคันขึ้นเป็นเม็ดเล็ก ๆ ลักษณะวงกลมเกิดเป็นจุด ๆ ไป หากเกิดอาการคันมากและเกา เม็ดเล็ก ๆ นั้นจะแตกเป็นขุยและลามได้ ดังนั้นการได้ยาทาจะช่วยให้หายเร็วกว่าปล่อยให้หายเองตามธรรมชาติ
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์ ขนานที่ ๑
♦ สบู่กรด, ปูนแดง
นำส่วนผสมทั้งสองอย่าง ๆ ละ ๑ ส่วน มาบดผสมกันใช้ทาผื่นที่แตกแล้ว
หรือใช้กระเทียมผ่านบาง ๆ และทุบให้นิ่ม นำไปถูผื่นที่แตกแล้วหลาย ๆ ครั้ง โบราณท่านกล่าวไว้ว่าให้กลั้นหายใจและถูหลังตื่นนอนตอนเช้า จะทำให้หายขาด
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์ ขนานที่ ๒
♦ น้ำมันยาง, ดินปืน, กาบหมาก ก่อนใช้นำไปเผาไฟ
นำส่วนผสมทั้งสองอย่าง ๆ ละ ๑ ส่วน มาบดผสมกันใช้ทาผื่นที่แตกแล้ว
........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคตกขาว"
เป็นโรคที่เกิดกับผู้หญิงโดยเฉพาะ คือมีอาการของระดูผิดปกติจากเดิม ระดูขาวจะขุ่นและข้น มีมากจนผิดสังเกตุ รอบ ๆ อวัยวะเป็นเม็ดและคัน มีกลิ่นคาว บางรายปวดเมื่อยและเสียวมดลูก จะมีอาการปวดศีรษะบ่อย หน้ามืดและเบื่ออาหาร
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ รากหญ้าคา ๓ ส่วน, รากลำเจียด ๓ ส่วน, หัวหญ้าชันกาด ๓ ส่วน,
เหง้าสับปะรด ๓ ส่วน, ดินประสิวขาว ๑/๔ ส่วน, สารส้ม ๑/๒ ส่วน,
หน่ออ้อย ๓ ส่วน, โศกกระสุน ๓ ส่วน, ต้นบานไม่รู้โรยขาว ๓ ส่วน,
ยาข้าวเย็น ๔ ส่วน
นำส่วนผสมทั้งหมดมาต้มให้เดือด ใช้รับประทาน
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคหืด"
โรคหืดเป็นโรคที่มีอาการหอบเหนื่อย โดยการหายใจสั้น ๆ เร็ว ๆ มีเสียงดัง มีความอ่อนเพลีย ไม่มีแรง หากเป็นมากจะมีอาการไอแห้ง ๆ ผสมมากขึ้นตามอาการ และมีเสมหะ
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์ ขนานที่ ๑
♦ ดอกลำโพง, ใบมะฝ่อ
นำส่วนผสมทั้งสองอย่าง ๆ ละเท่า ๆ กัน นำมาหั่นและตากให้แห้ง ใช้เลือดแรดละลายกับน้ำตาลโตนดเคล้ากับใบยาที่เตรียมไว้และหลังจากนั้นใช้การบูรเล็กน้อยผสมกับยาเส้นและใบมะฝ่อกับดอกลำโพงแห้ง นำมามวนสูบแก้หืดได้
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์ ขนานที่ ๒
♦ จันทน์แดง ๑ ส่วน, จุนสี ๑/๔ ส่วน
นำส่วนผสมทั้งหมดมาบดละลายกับน้ำร้อน ใช้รับประทาน หรือใช้เปลือกหอยนางรมป่น ๑ ส่วน ผสมกับน้ำปูนใส ใช้รับประทาน
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคปวดศีรษะ"
ปวดศีรษะในที่นี้ไม่รวมกับการปวดศีรษะจากโรคอื่น ๆ เป็นการปวดศีรษะจากการตากแดดแรงจัดมากเกินไป ทำให้ใบหน้าร้อนวูบวาบ ปวดที่ขมับตุบ ๆ ทั้งสองข้าง ถ้าเป็นน้อยอาจไม่ต้องใช้ยา นอนหลับตาสักครู่ก็จะดีขึ้น หากเป็นมากให้รีบทำการรักษาก่อนที่จะมีอาการไข้ตามมา
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ รากมะลิ, รากสมี, ชะมดเช็ด, กฤษณา
นำส่วนผสมทั้งหมดอย่างละ ๑ ส่วน มาบดรวมกันกับน้ำดอกไม้ ใช้สำหรับทาหน้าผากทึ้งไว้สักพักจะหายเป็นปลิดทิ้ง
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคปวดท้อง"
เป็นอาการที่เกิดจากการปวดบริเวณท้อง อาจเกี่ยวกับลำไส้ก็ได้ หรือกระเพาะอาหารก็ได้ มักมีอาการปวดเสียด เสียวแปลบ ๆ อยู่ในท้อง ปวดมากเป็นระยะ ๆ เป็นช่วง ๆ ถ้ามีอาการท้องอืด มักจะมีอาการท้องผูกตามมาด้วย อาการเช่นนี้สามารถรับประทานยาธาตุได้
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ ว่านน้ำ, ยาดำ, ดองดึง, สะค้าน, พริกไทยป่น, มหาหิงคุ์, ผักแพวแดง, กัญชา, แก่นแสมทะเล, ดีปลี, หัวอุตพิต, โกฐพุงปลา, โกฐสอ, โกฐจุฬาลัมพา
นำส่วนผสมทั้งหมดอย่างละ ๑ ส่วน มาบดรวมกันกับน้ำผึ้งใช้รับประทาน
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคท้องผูก"
เป็นอาการที่เกิดจากลำไส้โดยตรง ไม่ขับน้ำออกมาตามปกติหรือมีการดูดซึมน้ำมากเกินไป ทำให้อุจจาระนั้นเป็นก้อนแข็ง โรคท้องผูกนี้มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การรับประทานอาหารที่มีกากและน้ำ ก็จะช่วยให้อาการของโรคหายไปได้ ยาขนานนี้ยังสามารถรักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ เจ็บหลัง เจ็บเอว เมื่อยขบได้ทั้งหมด
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ ยาดำ, ดองดึง, สะค้าน, ว่านน้ำ, พริกไทยป่น, มหาหิงคุ์, ผักแพวแดง, กัญชา, แก่นแสมทะเล, ดีปลี, หัวอุตพิต, โกฐพุงปลา, โกฐสอ, โกฐจุฬาลัมพา, ชะเอม
นำส่วนผสมทั้งหมดอย่างละ ๑ ส่วน มาบดรวมกันละลายน้ำ ใช้รับประทาน
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคบิด"
มักมีอาการไม่ถ่ายประมาณ ๒-๓ วัน จึงจะถ่ายครั้งหนึ่ง และก็จะถ่ายด้วยความยากลำบาก มีอาการปวดเสียดในท้องหรือที่ทวารหนัก ถ่ายเพียงครั้งละนิดเท่านั้น และแต่ละครั้งนั้นจะแข็งมาก เมื่อถ่ายเสร็จแล้วก็จะหายปวด พอทึ้งระยะสักพักก็จะเป็นอีก เป็นบ่อยทั้งวัน หากเป็นมากขึ้นจะมีเลือดปนออกมาเมื่อเวลาถ่าย ต้องรีบรักษาก่อนที่จะเกิดอันตราย
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ ใบสวาด ๑ ส่วน, ใบกระพังโหม ๑ ส่วน, ใบทับทิม ๑ ส่วน,
ดีปลี ๗ ดอก, พริกไทย ๗ เม็ด, ขิง ๗ แว่น
นำส่วนผสมทั้งหมด มาตำและรับประทานเฉพาะน้ำเท่านั้น แต่ถ้าหากมีไข้ด้วยให้ใช้เฉพาะใบสวาด ใบทับทิมและใบกระพังโหม ต้มกับน้ำ สำหรับดื่มรับประทาน
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคซางชัก"
เป็นอาการของไข้ตัวร้อน นอนไม่ค่อยหลับ ถ้าเป็นในเด็กจะงอแงทั้งวัน ครั่นเนื้อครั่นตัว หากเป็นมากอาจจะมีอาการขากรรไกรค้างและถึงชักได้ ในขณะที่ชักก็อาจมีอุจจาระ ปัสสาวะไหลออกมาได้เหมือนกัน เมื่อเป็นมากขึ้นจะเบื่ออาหาร อาเจียน ซูบซีด อาจเกิดอันตรายได้
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ เม็ดแมงลัก ๑ ส่วน, ตะไคร้หอม ๑ ส่วน, ไพล ๑ ส่วน, ยาดำ ๑/๔ ส่วน, ดีงูเหลือม เพียงเล็กน้อย, มหาหิงคุ์ เพียงเล็กน้อย
นำส่วนผสมทั้งหมด มาบดผสมเหล้ากับดีงูเหลือม ใช้สำหรับดื่มรับประทาน
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคไข้อีดำอีแดง"
ในอาการเริ่มแรกจะเป็นโรคที่มีอาการเป็นไข้ หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดศีรษะมาก ครั่นเนื้อครั่นตัว ลิ้นเป็นฝ้า มีจุดสีแดงหรือสีเหลืองอ่อน และอาจเกิดเม็ดผื่นขึ้นทั่วไป
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ ตำลึงตัวผู้, ดินประสิวขาว
นำส่วนผสมทั้งหมดอย่างละ ๑ ส่วน มาบดรวมกัน แล้วใช้ทาให้ทั่วที่เป็นผื่น
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคกระษัย"
เป็นโรคที่มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ไม่ว่าจะเป็นเอว น่อง ขา หลัง มีอาการหายใจขัด หรือมีอาการแน่นหน้าอก ท้องผูก หากท้องอืดจะเรอเหม็นเปรี้ยว ปัสสาวะบ่อยครั้งละนิด ตัวซูบซีดเหลืองอ่อนเพลีย บางคนมีอาการไข้ผสมด้วย ซึ่งโรคกระษัยนี้มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น กระษัยเส้น กระษัยลม กระษัยจุกเสียด เป็นต้น กระษัยทั้งหมดมักมีอาการคล้าย ๆ กัน
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ โศกกระสุน ๑ ส่วน, ดีปลี ๑ ส่วน, เจตมูลเพลิง ๑ ส่วน, ชะพลู ๑ ส่วน,
ขิง ๑ ส่วน, สะค้าน ๑ ส่วน, โกฐจุฬาลัมพา ๑ ส่วน, พริกไทย ๒ ส่วน,
แก่นขี้เหล็ก ๓ ส่วน, แก่นแสมสาร ๓ ส่วน, กำลังวัวเถลิง ๔ ส่วน,
แห้วหมู ๖ ส่วน, บอระเพ็ด ๘ ส่วน
นำส่วนผสมทั้งหมดตามที่กำหนด มาต้มในน้ำพอประมาณ ใช้สำหรับดื่มรับประทาน
► ยาแผนโบราณตำรายาสมุนไพรวัดโพธิ์
"ยารักษาโรคลมขึ้นเบื้องสูง"
มักเกิดกับผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย อาการที่พบบ่อย ๆ ก็คือ จะมีอาการหน้ามืด สวิงสวายอ่อนเพลีย จุกเสียดแน่นหน้าอก มึนศีรษะ อาจจะมีอาการอาเจียน คลื่นไส้อยู่บ่อย ๆ หากเป็นมากอาจทำให้เป็นลมล้มพับได้ง่าย ซึ่งจะเป็นอันตรายสำหรับผู้สูงอายุทั้งหลาย
• ส่วนผสมยาตามตำรายาสมุนไพรรักษาโรควัดโพธิ์
♦ ชะลูด ๑ ส่วน, จันทร์ชะมด ๑ ส่วน, อบเชย ๑ ส่วน, เทพาทาโร ๑ ส่วน,
เทียนข้าวเปลือก ๑ ส่วน, แก่นสน ๑ ส่วน, จันทร์เทศ ๑ ส่วน, จันทร์แดง ๑ ส่วน, เทียนเยาวพาณี ๑ ส่วน, เทียนตาตั๊กแตน ๑ ส่วน
นำส่วนผสมทั้งหมดตามที่กำหนด เติมด้วยใบสันพร้าหอมเปราะหอม ใบพิมเสน อย่างละ ๑/๒ ส่วน นำมาบดผสมกับน้ำดอกไม้สด แล้วปั้นเป็นลูกกลอนเก็บไว้รับประทาน ซึ่งเรียกว่า "ยาหอมสารวาน"
เรียบเรียงบทความ
ยาแผนโบราณ ตำรับยาสมุนไพรวัดโพธิ์ สำหรับรักษาโรค
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
|
|