พลังแห่งกลิ่นหอม
กำยาน ความหอมอมตะ
ที่ผสมผสานกับศาสตร์แห่งสปาอย่างลงตัว
คำว่า "กำยาน" มาจากภาษมลายูว่า "Kamyan" มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น สะด่าน สาดสมิง เป็นต้น "กำยาน" เป็นชันน้ำมัน (oleresin) และเป็นชื่อต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่หลายชนิดในสกุล Styrax วงศ์ Styracaceae ลำต้นปลายตรง เรือนยอด โปร่ง เปลือกสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา มีขนประปราย
"กำยาน" มีดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ออกดอกราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลมีลักษณะกลม สีเขียวอ่อน มีขนสั้นสีขาวปกครุม เปลือกแข็ง มีฝา หรือหมวกปิดขั้วผล มีเมล็ด 1-2 เมล็ด เมื่อแห้งจะแตกเป็นสามส่วน
ยางของต้น "กำยาน" จะให้สารสำคัญที่เรียกว่า "ชันกำยาน" โดยเมื่อกรีดเปลือกต้นตามยาว ยางจะซึมออกมาตามรอยแผลที่กรีดไว้ และจะแข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ชันยางที่กรีดได้ครั้งแรกจะขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอมมาก
ชันยางของ "กำยาน" มีสรรพคุณมากมาย ได้มีการนำมาใช้เข้าทำเครื่องยาและเครื่องสำอาง เข่น ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคบางชนิด แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ห้ามเลือด เป็นยาฝาดสมาน ขับลม บำรุงหัวใจ ลดความเครียด คลายความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น ใช้ทำเครื่องหอม เผารมเพื่อให้กลิ่นหอมไล่ริ้นไรมดแมลง นอกจากนี้กำยานมักใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณเพื่อแต่งกลิ่นและกันบูด
► "กำยาน" ที่มีขายในท้องตลาดมี 2 ชนิด คือ
• 1. กำยานสุมาตรา (Sumatra Benzoin)
ได้จากพืช 2 ชนิด คือ Styrax Benzoin Dryander และ Styrax Paralleloneurus Perkins พืชชนิดแรกเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงได้ถึงราว 20-30 เมตร อาจสูงได้ถึง 40 เมตร กิ่งอ่อนและช่อดอกเป็นเหลี่ยม มีขนเป็นกระจุกสั้น ๆ ไม่หนาแน่นปกคลุมอยู่ ใบเป็นใบเดี่ยว เวียนสลับกัน รูปไข่ รูปรี รูปไข่แกมใบหอก ปลายใบทู่ถึงเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนมีขนสีขาวสั้น ๆ
เมื่อออกใหม่ ๆ แต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ ด้านล่างสีอ่อนกว่ามีขนเป็นกระจุกสั้น ๆ ไม่หนาแน่น ช่อดอกออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีทั้งช่อเดี่ยวและช่อแยกแขนง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สีขาว กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นถ้วยเล็ก ๆ ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ ร่วงง่าย กลีปรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก โคนติดกัน เกสรตัวผู้มี 10 อัน สีแสดอมเหลือง เกสรตัวเมียมี 1 อัน ผลกลมค่อนข้างแป้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร พืชอีกชนิดหนึ่งก็มีลักษณะโดยทั่ว ๆ ไปคล้ายคลึงกัน
......................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
......................................................................................
พืชทั้งสองชนิดนี้จะให้ "กำยาน" ได้เมื่อมีอายุประมาณ 6 ปี ขณะที่ลำต้นมีขนาดผ่าศูนย์กลาง 17-20 เซนติเมตร เปลือกต้นจะถูกกรีดตามยาวตั้งแต่ตอนใกล้กับกล่องล่างที่สุดลงมา ชันน้ำมันจะซึมออกมาตามรอยแผลที่กรีดไว้ และจะแข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ชันน้ำมันที่กรีดได้ครั้งแรกจะขาวและบริสุทธิ์ เป็น "กำยานที่มีกลิ่นหอม" โดยปกติในการกรีดแต่ละครั้งจะได้กำยานไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อต้น
• 2. กำยานญวน
(ที่เรียกเช่นนี้เพราะพืชที่ให้ "กำยาน" ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดบริเวณอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม) หรือ "กำยานหลวงพระบาง" (ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็น "กำยาน" ที่ผลิตมากที่แขวงหลวงพระบางของลาวในปัจจุบัน) "กำยาน" ชนิดนี้เป็นกำยานชนิดที่ดีที่สุด ฝรั่งเรียก "Siam Benzoin" เพราะ "กำยาน" ชนิดนี้ส่งออกขายจากเมืองหลวงของราชอาณาจักรสยาม "กำยาน" ชนิดนี้ได้จาก "ต้นกำยาน" มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Styrax Tonkinensis Pierre Craib ex Hartwick ซึ่งคล้ายคลึงกับพืชชนิดที่ให้ "กำยานสุมาตรา"
ในทางการค้า "กำยาน" ชนิดหลังนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นเม็ดกลมรี เม็ดไม่ติดรวมกันเรียกว่า "Tear Siam Benzoin" ส่วนอีกชนิดหนึ่งเป็นเม็ด ๆ ติดกันเป็นก้อน มีลักษณะเป็นก้อนเหลี่ยมตามลักษณะของหีบไม้ที่บรรจุเรียกว่า "Block Siam Benzoin"
"กำยานหลวงพระบาง" ที่เป็นเม็ดกลมรีนี้มีขนาดเล็ก ส่วนมากมีความยาวน้อยกว่า 2-3 เซนติเมตร ทึบแสง เปราะ ชั้นในมีสีน้ำนมขาวขนาดเล็กแต่เมื่อเก็บไว้นาน ๆ จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงปนน้ำตาล ใสหรือทึบแสง
ชนิดที่ดีที่สุดคือ เม็ดกลมรี เกาะติดกันหลวม ๆ ไม่แน่น ชนิดธรรมดาเป็นเม็ดกลมรี ติดกันแน่น โดยมียางสีอำพันไม่โปร่งแสง ยึดติดระหว่างเม็ด
"กำยานญวน" หรือ "กำยานหลวงพระบาง" นี้มีองค์ประกอบเคมีหลักเป็น โคนิเฟอริลเบนโซเอต (coniferyl benzoate) ร้อยละ 60-70 และกรดกำยาน (benzoic acid) อิสระ ประมาณร้อยละ 10
"กำยานสุมาตรา" จะแตกต่างจาก "กำยานญวนหรือกำยานหลวงพระบาง" ตรงที่มีสีเทามากกว่า ไม่ค่อยพบส่วนที่เป็นก้อนกลม ๆ รี ๆ มักมีเศษไม้และของอื่น ๆ ปนอยู่ ความหอมก็สู้ "กำยานญวน" หรือ "กำยานหลวงพระบาง" ไม่ได้ "กำยาน" ชนิดนี้ส่งออกขายจากเมืองปาเลมบัง (Palembang) ในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย "กำยานสุมาตรา" มีองค์ประกอบทางเคมีหลัก ๆ เป็นกรดชินนามิก (cinnamic acid) ประมาณร้อยละ 10 และกรด "กำยาน" ประมาณร้อยละ 6 รวมทั้งเอสเตอร์ ของกรดทั้งสอง
"กำยาน" ใช้ปรุงน้ำอบไทย โดยการเผา "กำยาน" บนก้อนถ่านที่ไฟลุกแดง แล้วใช้อบเช่นอบน้ำดอกไม้ น้ำที่อบ "กำยาน" แล้วโบราณเอามาปลุงกับเครื่องหอมอื่น ๆ ทำเป็นน้ำอบไทย นอกจากนั้น "กำยาน" ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของเทียนอบ ธูปหอม และกระแจะ ทั้งยังใช้เผารมเพื่อให้มีกลิ่นหอมและไล่ริ้นไรมดแมลง และเพื่อฆ่าเชื้อโรคในห้อง
"กำยาน" ที่นำมาใช้ประโยขน์ทางยา ส่วนใหญ่จะเป็น "กำยานสุมาตรา" โดยใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ และเป็นยาฝาดสมาน
ส่วน "กำยานญวนหรือกำยานหลวงพระบาง" ใช้เป็นสารให้คงกลิ่น ในน้ำหอม สบู่ ครีม สารซักฟอก เป็นต้น
ตั้งแต่ฝรั่งเศษเขายึดครองอินโดนีเซียก็เป็นประเทศผูกขาด "กำยานหลวงพระบางและกำยานญวน" กำยานญวนเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมของฝรั่งเศส
เนื่องจาก "กำยาน" สามารถต้านการสลายตัวของไขมันต่าง ๆ ได้ จึงใช้ "กำยาน" ผสมกับไขมันที่จะใช้เป็นยาพื้นสำหรับเตรียมยาขี้ผึ้งต่าง ๆ นอกจากนั้น "กำยาน" มักใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณ เพื่อวัตถุประสงค์ในการแต่งกลิ่นและกันบูด
ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า "กำยานมีกลิ่นหอม" มีสรรพคุณแก้ลม บำรุงเส้น บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ สมานแผล และดับกลิ่นทั้งปวง
ปัจจุบันการบำบัดรักษาสุขภาพด้วยกลิ่นหอม หรือที่เรียกว่า อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหนึ่งในกลิ่นหอมที่นำมาใช้ก็คือ "กำยาน" นั่นเอง
แนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สูตรและวิธีการทำธูปหอมสปากลิ่นกำยาน
♦เรียบเรียงบทความ
"กำยาน ความหอมอมตะ ที่ผสมผสานกับศาสตร์แห่งสปาอย่างลงตัว"
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
|