ข่าวประชาสัมพันธ์ New & Events
สปา โรงแรม-รีสอร์ท ท่องเที่ยว โยคะ ความงาม สุขภาพ อาหาร |
บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
จัดงานยักษ์ Fi Asia 2015
ชี้ 10 เทรนด์ อาหารมาแรง
งานแสดงเทคโนโลยีอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มแห่งเอเชียหรือ ฟู้ดอินกรีเดียนส์ เอเชีย 2015 (Food ingredients Asia 2015) ระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ในปีนี้จะจัดงานใหญ่พร้อมดึงหน่วยงานรัฐ-เอกชน ร่วมจัดกิจกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการไทย คาดสร้างเงินสะพัดในอุตสาหกรรมอาหาร กว่า 1,000 ล้านบาท...
|
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.............................................................................
|
บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมจัดงานแสดงเทคโนโลยีอุตสาหกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มแห่งเอเชียหรือ ฟู้ดอินกรีเดียนส์ เอเชีย 2015 (Food ingredients Asia 2015 หรือ Fi Asia 2015) ระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ในปีนี้จะจัดงานใหญ่ฉลองรบรอบการจัดงานครั้งที่ 20 พร้อมดึงหน่วยงานรัฐ-เอกชน ร่วมจัดกิจกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการไทย คาดสร้างเงินสะพัดในอุตสาหกรรมอาหาร กว่า 1,000 ล้านบาท ชี้ 10 เทรนด์อาหาร น่าจับตามอง
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “งาน Fi Asia 2015 ที่จะจัดขึ้นนี้ ถือเป็นงานใหญ่ระดับเอเชีย และมีความสำคัญต่อธุรกิจอาหารทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งงานได้รับความสนใจจากองค์กรด้านอาหารชั้นนำมาอย่างต่อเนื่องและการจัดงานในครั้งนี้มีความพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ เนื่องจากเป็นการจัดงานครั้งที่ 20 ซึ่งจัดต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียนเป็นเวลา 20 ซึ่งมีผู้ประกอบการกว่า 650 บริษัท จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เพิ่มพื้นที่งาน 40% รองรับผู้ร่วมงานทั้งไทยและต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม, สถาบันอาหาร, กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร, สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ นอกจากงาน Fi Asia 2015 จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วทุกมุมโลกอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลให้ภูมิภาค ASEAN เป็นศูนย์กลางอาหารของโลกตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปีนี้ยูบีเอ็มได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์งานในต่างประเทศ โดยการจัดสัมมนาสัญจรเพื่อเข้าถึงผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง เช่น เวียดนาม พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมให้ความรู้ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ การตลาดและการลงทุน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) หรือผู้ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจอาหารอื่นๆ นางสาวรุ้งเพชร กล่าวเสริมว่า แนวโน้มธุรกิจอาหารในปี พ.ศ. 2559-2560 ที่ทั่วโลกกำลังจับตามองได้แก่
|
.............................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.............................................................................
|
1. Health and Natural Ingredients: อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารจากธรรมชาติ
ผู้บริโภคมีความใส่ใจและดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยความสำเร็จของธุรกิจผลิตอาหารจากธรรมชาติและอาหาร ออร์แกนิก นั้นสามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพการเติบโตของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและกำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ประเภทอาหารในกลุ่มนี้รวมถึงอาหารออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์อาหารปราศจากกลูเตน และแลคโตส รวมทั้งอาหารที่มีสัดส่วนของน้ำตาลและไขมันต่ำ รวมถึงอาหารมังสวิรัติ อาหารเจ จะเพิ่มมากขึ้นตามแนวโน้มผู้บริโภคอาหารที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นด้วย
2. Food for Older Adults: อาหารสำหรับผู้สูงอายุ
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปีพ.ศ. 2593 จำนวนประชากรผู้สูงอายุในโลกจะเพิ่มกว่า 20% หรือประมาณ 2,200 ล้านคน และจากผลสำรวจล่าสุดของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่อง Aging Society ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนอายุ 48-57 ปี ในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดย 30% มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3-6 หมื่นบาท และอีก 30% กว่า มีรายได้ 6 หมื่นถึง 1 แสนบาท ทำให้ปัจจุบันองค์กรธุรกิจเริ่มปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างชัดเจน อาทิ บริษัทชั้นนำด้านการค้าออนไลน์แห่งหนึ่ง เปิด 50+ Active and Healthy Living Store เพื่อขายผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคชั้นนำ ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบขวดกาแฟให้มีส่วนโค้งให้จับถนัดมือและเปิดง่ายขึ้น และกลุ่มธุรกิจ เครื่องปรุงจากญี่ปุ่นรายหนึ่งที่ได้ออกผลิตภัณฑ์สตูว์จานเดียว เพื่อรองรับความต้องการของครอบครัวเดี่ยวและผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น
3. Coming of Fusion Food: อาหารฟิวชั่นยุคใหม่
อาหารฟิวชั่น คือ อาหารที่ผสมผสานระหว่าง วัตถุดิบและสไตล์อาหาร ตั้งแต่ 2 สัญชาติขึ้นไป ถือเป็นการแสดงออกของสังคมโลกยุคไร้พรมแดน ที่ได้รับความนิยมอยู่ในหลายประเทศ ด้วยความแปลก แตกต่างและน่าตื่นเต้น ส่งผลให้ตลาดของอาหารฟิวชั่นในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มของอาหารฟิวชั่นในยุคถัดไปนั้น จะมีการผสมผสานระหว่างวัตถุดิบท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดการกินอาหารตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ หรืออาหารทะเล มีการคำนึงถึงความลงตัวของรสชาติและการนำเสนออาหารนั้นๆ ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมเองจะมีผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ที่เริ่มมาจากการนำวัตถุดิบจากนานาชาติมาปรับเข้ากับอาหารท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
4. Ready to Eat = Urban’s Food: อาหารสำเร็จรูป อาหารคนเมือง
ปี พ.ศ. 2563 ประชากรโลกทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นจาก 50% ในปัจจุบันเป็น 60% และในประเทศไทย แนวโน้มการใช้ชีวิตแบบเมืองเพิ่มขึ้นเช่นกันธุรกิจอาหารสำเร็จรูปสำหรับคนเมืองที่ง่ายและรวดเร็วจึงเติบโตขึ้น เพราะรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น การขยายตัวของจำนวนร้านค้าแบบลูกโซ่ และขนาดครอบครัวที่เล็กลง อาหารในกลุ่มนี้จะรวมถึงอาหารสำเร็จพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง อาหารส่งถึงบ้าน ตลอดจนกลุ่มอาหารแปรรูปที่เน้นความสะดวกสบายในการบริโภคและมีอายุการเก็บนาน โดยกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมอาหารสำเร็จรูปจะให้ความสำคัญกับความสะดวก รูปแบบบรรจุผลิตภัณฑ์ คุณค่าทางอาหาร ความปลอดภัย ความหลากหลาย และความน่าดึงดูดของผลิตภัณฑ์ สำหรับอาหารพร้อมทานซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับต้นๆ ในปี 2558 มีมูลค่ารวมถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. The Rise of Halal food market: การเติบโตของตลาดอาหารฮาลาล
กลุ่มประชากรมุสลิมกำลังขยายตัว โดยคาดการว่าภายในปี 2030 จะมีจำนวนมุสลิมทัวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26.4 ของจำนวนประชากรทั้งโลก ประกอบกับผู้ผลิตอาหารตามหลักฮาลาลยังมีอยู่น้อยราย ทำให้ตลาดเศรษฐกิจฮาลาลเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ทรงอิทธิพลและมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุด โดยตลาดออาหารฮาลาลเป็นตลาดที่กำลังขยายตัวขึ้นมาเป็นอันดับสามของโลก รองจากตลาดอาหารในประเทศจีนและอินเดีย
6. The Era of nutritious: ยุคของเครื่องดื่มและอาหารเสริม
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและวิตามินกลายเป็นสินค้าที่มีอิทธิพลในตลาด เพราะผู้บริโภคยังคงหาตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพมาสนองความต้องการเฉพาะด้านของตน ไม่ว่าจะเป็น อาหารเสริมที่ช่วยในการทำงานของสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน เสริมความงาม ดูแลรูปร่าง หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์บำรุงหัวใจและผลิตภัณฑ์เสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ซึ่งประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เป็นอย่างดี ทำให้มีการคาดการโดยว่าตลาดฟังก์ชันนัลฟู้ดทั่วโลกจะเติบโตขึ้นกว่า 25% ในปี 2560
7. Food Safety: ความปลอดภัยทางอาหาร
ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจอาหารผู้บริโภคมักจะหาข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์อาหารนี้ได้มาอย่างไร ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวและหันมาใส่ใจกับกระบวนการผลิตและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลการผลิตได้ ในด้านการส่งออกก็เช่นเดียวกัน ทุกประเทศทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหาร โดยเน้นว่าอาหารที่นำเข้าประเทศนั้นจะปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากอาหาร (food hazard) ทั้งอันตรายทางชีวภาพ อันตรายทางเคมี อันตรายทางกายภาพ
8. Social Media Online Market and Delivery service: โซเชียลมีเดีย ตลาดออนไลน์และบริการส่งถึงที่
สื่อสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมจากทั่วโลก ทำให้แนวโน้มการทำการตลาดต่อไปนั้นต้องเข้าถึงสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่องทางการสั่งอาหารและการจัดจำหน่ายของผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร จะมุ่งตรงไปในช่องทางออนไลน์ และบริการส่งถึงที่ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่การตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น
9. Digital to Diets: จากโลกดิจิตอลสู่พฤติกรรมการบริโภค
อิทธิพลของโลกดิจิตอลและโซเชียลมีเดียนั้นทำให้คนอยากมีรูปร่างดี และเป็นที่ชื่นชมในสังคมออนไลน์ เทรนด์อาหารในยุคนี้จึงเน้นไปที่การควบคุมน้ำหนักและดูแลรูปร่าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารเสริมควบคุมน้ำหนัก ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย อาหารที่มีผลต่อระบบขับถ่าย ไปจนถึงการเลือกบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อาทิ แป้งไม่ขัดขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช (โฮลวีต) ที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มคงที่สม่ำเสมอส่งผลให้ร่างกาย มีพลังงานต่อเนื่องไม่หิวบ่อย และการเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงแอพพลิเคชั่นและเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยคำนวนแคลลอรี่ และสารอาหารที่ได้รับจากอาหารแต่ละมื้ออีกด้วย
10. it’s time for Generation Z: ถึงเวลาของเจนเนอเรชั่น ซี
เจเนอเรชั่น ซี เป็นกลุ่มที่กำลังถูกจับตามองจากนักการตลาดจากทุกวงการเพราะภายในระยะเวลา 5 ปี เจเนอเรชั่น ซี จะก้าวเข้ามาเป็นผู้มีกำลังซื้อและมีบทบาทในหน่วยงานต่างๆ คนกลุ่มนี้มีความเป็นคนเมืองมากขึ้น มีการศึกษาที่ดีขึ้น และมีแนวโน้มการแต่งงานช้าลง ทำให้เป็นกลุ่มอายุน้อยที่มีอำนาจซื้อสูง ธุรกิจอาหารจึงต้องปรับตัว และมีการออกแบบสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของคนเจนซีมากขึ้น ผู้บริโภควัย Gen Z ต้องการสินค้าเฉพาะเจาะจงที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย Gen Z มีทัศนคติเป็นผู้ที่ชื่นชอบการใช้จ่าย เพื่อสร้างความสุขความพอใจกับตนเอง
งาน Fi Asia 2015 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยในงานจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมส่วนผสมอาหารอย่างครบวงจร พร้อมทั้งส่วน Innovation Zone ที่จัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมอาหารทั่วโลก นอกจากนี้ ภายในงานยังมีส่วนของการสัมมนาต่างๆ อาทิ งานสัมมนาด้านการวิจัย เทคโนโลยีและองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารนานาชาติในหัวข้อ “ New Functional Ingredients For Healthy Living” ที่จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) หรืองานสัมมนาอาหารฮาลาลนานาชาติ จัดโดยสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม (NFI), สัมมนาภาพรวมและแนะนำแผนมาตรฐานอาหาร BAP เบื้องต้น โดยสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สัมมนาหัวข้อ ASEAN regulation on supplement จาก EAS Consulting Group รวมถึงการสัมมนาแนวโน้มธุรกิจอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fiasia-thailand.com
องค์กรผู้สนับสนุน
• กระทรวงอุตสาหกรรม
• กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมอาหาร แห่งประเทศไทย (FTI)
• สถาบันอาหาร (NFI)
• สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งประเทศไทย(FoSTAT)
• Federation of the Institutes of Food Science and Technology in ASEAN (FiFSTA)
• สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
• สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB)
สนับสนุนการประชุมโดย
• สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งประเทศไทย(FoSTAT)
• Federation of the Institutes of Food Science and Technology in ASEAN (FiFSTA)
• สถาบันอาหาร (NFI)
ข้อมูลผลิตภัณฑ์จัดแสดง
• ผลิตภัณฑ์ขนมอบ
• เครื่องดื่ม
• อาหารเด็กอ่อนและนมผงสำหรับทารก
• อาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทาน
• ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน
• อาหารจากนม
• ผลิตภัณฑ์ปรุงรส
• ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
• ไอศกริม
• อาหารมังสวิรัติ
• ส่วนประกอบอาหารและเครื่องดื่ม
• ส่วนประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ
• ส่วนประกอบจากธรรมชาติที่ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา
• การรักษาและเภสัชโภชนศาสตร์ และอีกมากมาย