ประวัติวัดโพธิ์
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ราชวรมหาวิหาร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร นิกายเถรวาท มหานิกาย โดยมีพระประธานคือ พระพุทธเทวปฏิมากร และมีพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาส, พระพุทธโลกนาถ, พระพุทธศาสดามหากรุณาธิคุณ, พระพุทธมารวิชัยอภัยปรปักษ์, พระพุทธชินราชวโรวาท, พระพุทธชินสีห์มุนีนาถ, พระพุทธปาลิไลยภิรัติไตรวิเวก และพระศรีสรรเพชญุดาญาณ ความพิเศษของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน
► ประวัติของ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
วัดพระเชตุพนฯ ในประวัติการสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้าง เดิมเรียกว่า "วัดโพธาราม" หรือ "วัดโพธิ์" ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ใน พ.ศ. 2331 โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนบูรณะของเดิม เมื่อแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2344 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)
นับจากนั้นวัดพระเชตุพนฯ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพตำราต่าง ๆ ลงบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐ์ไว้ตามศาลารายต่าง ๆ ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้สร้อยนามพระอารามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร”
พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงถือว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญมาก และทรงถือเป็นพระราชประเพณี ที่จะทรงบูรณะซ่อมแซมวัดนี้ทุกรัชกาล นอกจากนี้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ยังเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เพราะเป็นแหล่งรวบรวมวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และการแพทย์ นามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)นี้ ปรากฏในประกาศสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2411 ว่า “วัดนี้แม้จะมีนามพระราชทานมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่ชื่อพระราชทานมีผู้เรียกแต่อยู่ในพระราชวัง คนยังเรียกว่าวัดโพธิ์กันทั้งแผ่นดิน” และมีพระราชดำริว่า “ชื่อพระราชทานเป็นชื่อตั้งไม่ปิดไม่แน่นจะคิดแปลงใหม่เห็นจะไม่ชนะ”
► สิ่งก่อสร้างภายในวัด
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างค่อนข้างแน่น เนื่องจากการบูรณะแบบใส่คะแนน (แข่งกันบูรณะ) ส่งผลให้มีอาคารและสิ่งก่อสร้าง รวมถึง พระพุทธรูปมากมายภายในวัดแห่งนี้ โดยสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
• เขตวัดโพธาราม (เดิม)
เขตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) เดิมได้แก่ ส่วนตะวันตกของวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของวิหารพระพุทธไสยาส ศาลาการเปรียญ (ซึ่งเป็นพระอุโบสถเดิมของวัดโพธาราม) พระมณฑปและพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
• วิหารพระพุทธไสยาส
พระพุทธไสยาสวิหารพระพุทธไสยาส สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่ทรงโปรดฯ ให้ขยายพระอารามออกมาทางทิศเหนือ (เข้ามาซ้อนทับเขตวัดโพธารามเดิม ที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้) โดยพระองค์ทรงโปรดให้พระองค์เจ้าลดาวัลย์เป็นแม่กองในการก่อสร้าง โดยได้สร้างพระพุทธไสยาสขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารภายหลัง โดยมีขนาดเท่ากับพระอุโบสถ บริเวณผนังของวิหารนั้น ด้านบนมีภาพเขียนสีเรื่อง มหาวงศ์ และผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพสีเกี่ยวกับพระสาวิกาเอตทัคคะ 13 องค์ อุบาสกเอตทัคคะ 10 ท่านและอุบาสิกาเอตทัคคะ 10 ท่าน อยู่ด้วย
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษได้แก่ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน โดยที่พระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ โดยลวดลายของมงคล 108 ประการนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างคติความเชื่อที่รับมาจากชมพูทวีปและจีน
• พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ, พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรรกนิทาน, พระมหาเจดีย์มุนีบัติบริขามและพระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว สถาปัตยกรรมบริเวณซุ้มประตูมีลักษณะเป็นไทยประยุกต์แบบจีน โดยจะมีตุ๊กตาหินจีนประดับอยู่ประตูละ 1 คู่ องค์พระเจดีนั้นเป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
เดิมทีรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญโกลนพระศรีสรรเพชญดาญาณ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ด้วยทรงประสงค์จะหล่อพระศรีสรรเพชญองค์นี้ขึ้นมาใหม่ แต่หลังจากทรงปรึกษากับคณะสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์ได้ทูลถวายว่า การนำโกลนพระศรีสรรเพชญดาญาณมาหลอมใหม่นั้น ถือเป็นขีด เป็นกาลกิณี ไม่เป็นมงคลแก่บ้านเมือง จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ แบบย่อมุมไม้ยี่สิบ ครอบโกลนพระศรีสรรเพชญนี้ไว้ และพระราชทานพระนามเจดีย์ว่า "พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ" องค์พระเจดีย์ประด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ตั้งอยู่ตรงกลางของหมู่พระมหาเจดีย์ ล้อมรอบด้วยพระมหาเจดีย์อีก 3 องค์ นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1
ต่อมาในรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงมีพระประสงค์ทะนุบำรุงวัดพระเชตุพนฯ ทรงสร้างพระมหาเจดีย์ขนาบข้างกับพระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ ดังนั้น จึงเป็นเจดีย์สามองค์เรียงกันจากเหนือจรดใต้ โดยมีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ขนาดและความสูงเหมือนกันทุกประการ ต่างเพียงสีกระเบื้องที่มาประดับเท่านั้น โดยพระมหาเจดีย์ทางทิศเหนือของพระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว นามว่า "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรรกนิทาน" ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อพระราชอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมราชชนก ซึ่งนับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2 ส่วนพระมหาเจดีย์ทางทิศใต้ของพระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณนั้น ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง นามว่า "พระมหาเจดีย์มุนีบัติบริขาน" ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยนับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3 ด้วย
ภาพถ่ายเก่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้ถ่ายแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย มาจากวัดสวนหลวงสบสวรรค์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา โดยองค์พระมหาเจดีย์มีลักษณะที่แตกต่างจากพระมหาเจดีย์ทั้ง 3 องค์ คือ มีซุ้มคูหาเข้าไปภายในองค์พระมหาเจดีย์ได้ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาบหรือสีน้ำเงินเข้ม มีนามว่า "พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย" นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4
หลังจากนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ต่อไปในรัชกาลหลังอย่าให้เอาเป็นแบบอย่างที่จำเป็นจะต้องสร้างพระเจดีย์ประจำรัชกาลในวัดพระเชตุพนฯ ต่อไปเลย เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 รัชกาลแต่แรกนั้นได้เคยทรงเห็นกันทั้ง 4 พระองค์ ผิดกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่น" ดังนั้นการสร้างพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลจึงได้ยุติลงตั้งแต่นั้นมา
• ศาลาการเปรียญ
เดิมเป็นพระอุโบสถของวัดโพธารามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังการสถาปนาพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดพระเชตุพนแล้ว จึงได้ลดฐานะเป็นศาลาการเปรียญ โดยภายในมี "พระพุทธศาสดา" ประดิษฐานเป็นพระประธาน
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
• เขตพระอุโบสถ
เขตพระอุโบสถเป็นเขตที่สถาปนาขึ้นใหม่นอกเขตวัดโพธารามเดิม สร้างตามคติไตรภูมิ โดยให้พระอุโบสถเป็นเสมือนเขาพระสุเมรุ และให้วิหารทิศทั้งสี่ เป็นเสมือนทวีปหลักทั้งสี่
พระอุโบสถ
ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า ด้วยประสงค์ตั้งมั่นแน่วแน่ว่า นี่จะเป็นพระนครอย่างถาวร (ปางสมาธิ สื่อถึงการตั้งจิตมั่นแน่วแน่)
พระพุทธปาลิไลย ประดิษฐานที่พระวิหารทิศเหนือ พระวิหารทิศ
ส่วนพระวิหารทิศทั้ง 4 นั้นได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองต่าง ๆ มาประดิษฐานไว้ โดยแบ่งออกเป็นมุขหน้าและมุขหลัง โดยมุขหน้า คือ มุขที่หันสู่ทิศต่าง ๆ ส่วนมุขหลังนั้น คือ มุขที่หันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถ โดยพระวิหารทิศแบ่งออกเป็น 4 ทิศ ได้แก่
- พระวิหารทิศตะวันออก (ทิศพระโลกนาถ) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อัญเชิญมาจากวัดเขาอินทร์ เมืองสวรรคโลก ส่วนบริเวณมุขหลังประดิษฐานพระพุทธโลกนาถศาสดาจารย์ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้อัญเชิญมาจากวิหารพระโลกนาถ ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ (ซึ่งทรุดโทรมไม่มากนัก)
- พระวิหารทิศตะวันตก (ทิศนาคปรก) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธชินศรี เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก เดิมประดิษฐานอยู่ที่เมืองสุโขทัย โดยได้อัญเชิญมาพร้อมกับพระพุทธชินราช
- พระวิหารทิศเหนือ (ทิศป่าเลไลย) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธปาลิไลย เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นใหม่เมื่อครั้งทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ
- พระวิหารทิศใต้ (ทิศปัญญจวัคคีย์) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย
• พระเจดีย์
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งพระเจดีย์ต่าง ๆ ได้ 4 ประเภท ได้แก่ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล 4 องค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเขตวัดโพธารามเดิม ส่วนที่ประดิษฐานในเขตพระอุโบสถนั้น ได้แก่ พระเจดีย์ราย 71 องค์ พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียวรวม 20 องค์ และพระเจดีย์ทรงปรางค์หรือพระมหาสถูป 4 องค์ รวมทั้งสิ้น 99 องค์ โดยพระเจดีย์ที่ประดิษฐานในเขตพระอุโบสถ มีรายละเอียดดังนี้
พระเจดีย์ราย
พระเจดีย์ราย ประดิษฐานอยู่บริเวณโดยรอบของพระระเบียงชั้นนอกมีจำนวนทั้งสิ้น 71 องค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเดิมมีพระราชประสงค์ให้เป็นให้เป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ พระเจดีย์ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเคลือบสีและศิลาเขียว นับเป็นพระเจดีย์ที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับพระเจดีย์อื่น ๆ พระเจดีย์รายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารนั้น ได้รับยกย่องว่าเป็นพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองที่งามที่สุดของยุครัตนโกสินทร์
พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว
พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระเจดีย์ 5 องค์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน โดยองค์ตรงกลางนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าอีก 4 องค์ที่ล้อมรอบอยู่ ประดิษฐานอยู่ตรงมุมพระวิหารคดทั้ง 4 ด้าน นับรวมได้ 20 องค์ ลักษณะพระเจดีย์นั้นเป้นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง 4 องค์ล้อมรอบองค์กลางซึ่งเป็นเจดีย์แบบไม้สิบสองเพิ่มมุม ภายในพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุทุกองค์
พระมหาสถูป
พระมหาสถูป เป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์ หรือที่เรียกว่า พระอัคฆีย์เจดีย์ มีจำนวน 4 องค์ ประดิษฐานอยู่ตรงมุมลานพระอุโบสถชั้นนอกทั้ง 4 ด้าน บริเวณซุ้มของพระเจดีย์มีเทวรูปท้าวจตุโลกบาลหล่อด้วยดีบุก แล้วลงรักปิดทอง ประดิษฐานทั้ง 4 ด้าน ด้านบนมีรูปยักษ์ซึ่งหล่อด้วยดีบุกแบกยอดปรางค์ พระมหาสถูปมีชื่อเรียกที่ต่างกัน ดังนี้
- องค์ที่ประดิษฐานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีนามว่า พระพุทธมังคละกายพันธนามหาสถูป
- องค์ที่ประดิษฐานด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีนามว่า พระพุทธธรรมจักปวัตะนะปาทุกามหาสถูป
- องค์ที่ประดิษฐานด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีนามว่า พระพุทธวิไนยปิฏกะสูจิฆรามหาสถูป
- องค์ที่ประดิษฐานด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีนามว่า พระพุทธอภิธรรมธระวาสีปริกขาระมหาสถูป
• ประติมากรรมอื่น ๆ
นอกจาก อาคาร พระวิหาร พระเจดีย์ต่าง ๆ แล้ววัดโพธิ์ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิเช่น
รูปปั้นฤๅษีดัดตน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม พระองค์ทรงได้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปวิทยาการของกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ รวมทั้ง ได้ปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่าง ๆ ไว้ด้วย ซึ่งจำนวนของรูปปั้นฤๅษีดัดตนที่สร้างในรัชกาลที่ 1 นั้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ได้หล่อรูปปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่าง ๆ รวม 80 ท่า โดยใช้สังกะสีและดีบุก แทนการใช้ดินที่เสื่อมสภาพได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการแต่งโครงสี่สุภาพเพื่อบรรยายสรรพคุณท่าต่างของฤๅษีดัดตนทั้ง 80 บทด้วย เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายรูปปั้น รวมทั้งมีการลักลอบเอารูปปั้นไปขายบางส่วน ดังนั้น รูปปั้นที่อยู่ภายในวัดโพธิ์จึงมีเหลือเพียง 24 ท่า เท่านั้น
ยักษ์วัดโพธิ์
ยักษ์วัดโพธิ์ บริเวณซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป ยักษ์วัดโพธิ์นั้นตั้งอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป โดยมีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมักมีผู้เข้าใจผิดว่าตุ๊กตาสลักหินรูปจีน หรือ ลั่นถัน นายทวารบาลที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูวัดนั้นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิดท่าเตียนในปัจจุบัน นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งนั้น ทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดแจ้งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดโพธิ์ เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืนยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่าย ดังนั้น ยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดทะเลาะกัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อเกิดต่อสู้กันจึงทำให้บริเวณนั้นราบเรียบโล่งเตียนไปหมด เมื่อพระอิศวรทราบเรื่องนี้ จึงได้ลงโทษให้ยักษ์วัดโพธิ์ยืนเฝ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าวิหารวัดแจ้ง ตั้งแต่นั้นมา
► การศึกษา
• มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย โดยเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่าง ๆ จารึกลงบนศิลาจารึกหรือแผ่นศิลา รวมทั้งได้ปั้นฤๅษีดัดตน ประดับไว้ภายในบริเวณวัด ซึ่งอาจจะแบ่งความรู้ต่าง ๆ ออกได้เป็น 8 หมวด ได้แก่ หมวดประวัติการสร้างวัดพระเชตุพนฯ หมวดตำรายาแพทย์แผนโบราณ หมวดอนามัย หมวดประเพณี หมวดวรรณคดีไทย หมวดสุภาษิต หมวดทำเนียบ (จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) และหมวดพระพุทธศาสนา โดยเมื่อเทียบในปัจจุบันอาจจะแบ่งออกเป็นคณะต่าง ๆ ดังนี้ คณะประวัติศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์
• โรงเรียนภายในวัด
- โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
- โรงเรียนวัดพระเชตุพน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6
► วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
ที่อยู่ 2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10200
เรียบเรียงบทความ
ประวัติวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
|