ตำราแพทย์แผนโบราณ
"เส้นประธานสิบ"
หลักสำคัญของวิชาการนวดแผนไทย
ความหมายของเส้นประธาน คือ เส้นซึ่งเป็นหลักสำคัญของวิชาการนวดแผนไทย ตามที่
บูรพาจารย์ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เชื่อกันว่ามีเส้นอยู่ในร่างกายถึง 72,000 เส้น
แต่ที่เป็นเส้นประธานแห่งเส้นทั้งปวงมีเพียง 10 เส้นเท่านั้น เส้นประธานเป็นทางเดินของลม
ซึ่งเป็นพลังกายในที่หล่อเลี้ยงร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
ความสำคัญของเส้นประธาน
เส้นประธาน มีความสำคัญต่อการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีการนวดแผนไทย เพราะเป็นโครงสร้างที่ใช้ในการอธิบายถึงความเป็นปกติสุข และความผิดปกติของร่างกายได้ โดยเฉพาะความผิดปกติซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดขัดหรือกำเริบของลม จึงสามารถนำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกตินั้น ว่ามีความสัมพันธ์กับเส้นประธานเส้นใด รวมทั้งสามารถกำหนดวิธีการนวดรักษา ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับเส้นประธานนั้นได้อย่างมีหลักการ
โครงสร้างเส้นประธาน
ถ้าพิจารณาโดยรอบคอบและทดลองปฏิบัติตามตำราแล้ว เส้นประธานไม่น่าจะหมายถึง หลอดเลือด หรือเอ็น อย่างที่เข้าใจกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับความรู้ทางกายวิภาคสมัยใหม่ พบว่าทางเดินของเส้นประธานที่จะกล่าวถึงต่อไปนั้น ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับทางเดินของหลอดเลือด หรือเส้นเอ็น อย่างตรงตัวเสียทีเดียว และจากากรศึกษาโดยการกดจุดเริ่มต้นของเส้นประธานบริเวณสะดือแล้ว พบว่าเกิดความรู้สึกแล่นไปได้ตามทิศทางที่ระบุไว้ในตำรา จึงเป็นไปได้ว่าทางเดินของเส้นประธานก็คือ ทิศทางการแล่นของกระแสความรู้สึกที่เกิดจากการกดจุดต่างๆ นั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่าลักษณะโครงสร้างทางกายภาพของเส้นประธาน ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นโครงสร้างแบบใด และจากการศึกษาโครงสร้างอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายที่สามารถเกิดกระแสความรู้สึกแล่นภายในร่างกาย พบว่า โครงสร้างภายในร่างกาย ที่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกแล่นได้นั้น อาจเป็นเส้นประสาท เยื่อหุ้มกระดูก พังผืด เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ หรือผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีปลายประสาทมาเลี้ยง
การนวดเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางสรีรวิทยา เพื่อเกิดผลในการรักษา จึงอาจเป็นการนวดที่โครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่ง หรือหลายโครงสร้างผสานกัน โดยประสานเชื่อมต่อผ่านทางปลายประสาทดังกล่าว
นอกจากนี้เมื่อศึกษาวิวัฒนาการของตัวอ่อนของมนุษย์ พบว่า เนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของตัวอ่อน ได้วิวัฒนาการเติบโตไปเป็นส่วนของผิวหนังและระบบประสาท การเชื่อมต่อประสานของระบบประสาท จึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายร่างแหครอบคลุมทั่วร่างกาย จึงเป็นไปได้ที่จะสันนิษฐานว่าโครงสร้างของเส้นประธาน ซึ่งสัมพันธ์กับปลายประสาท อาจจะมีโครงสร้างเป็นแบบเครือข่ายร่างแหเช่นเดียวกัน
อนึ่งการเขียนโครงสร้างของเส้นประธาน บนท่ากายวิภาค (Anatomical Position) ของไทยนั้นจะมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง คือ เขียนบนภาพคนยืนย่อเข่า และผายมือไว้ข้างลำตัว ท่ากายวิภาคแบบนี้ หากขาดความเข้าใจที่ถูกต้องจะรู้สึกว่าเป็นท่าที่ดูไม่เรียบร้อย หนังสือรุ่นหลังบางเล่มได้เปลี่ยนการเขียนโครงสร้าง และจุดบนเส้นประธาน โดยใช้ท่ากายวิภาคสมัยใหม่ คือท่ายืนตรง ซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นการดัดแปลที่ทำให้เกิดความเสียหายในทางวิชาการ เพราะท่ายืนย่อเข่าจะเป็นท่าที่ทำให้มองเห็นเส้นต่างๆ เป็นแนวแถวเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่บิดเบี้ยวแบบที่ปรากฏในท่ายืนตรง จึงขอตั้งข้อสังเกตให้ปรากฏไว้ ณ ที่นี้
องค์ประกอบที่สัมพันธ์กับเส้นประธาน
องค์ประกอบตามทฤษฎีเส้นประธาน มี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ กล่าวคือ
1. "เส้น" ซึ่งมีเส้นประธาน และเส้นแขนงต่างๆ มีทางเดินของเส้นที่แน่นอน
2. "ลม" เป็นพลังซึ่งแล่นไปตามเส้น หากลมแล่นไม่ปกติ มีการติดขัด ย่อมก่อโทษทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้
3. "จุด" เป็นตำแหน่งบนร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับเส้น เมื่อกดหรือกระตุ้นถูกจุด จะเกิดกระแสความรู้สึกแล่นของลมไปตามแนวเส้นได้
ทางเดินของเส้นประธาน
ทางเดินของเส้นประธาน หมายถึง ทางเดินของพลังลมที่แล่นภายในร่างกาย ซึ่งสามารถรับรู้ได้ เมื่อกดจุดที่สัมพันธ์กับเส้นประธานนั้นๆ ทางเดินดังกล่าวมีทิศทางที่แน่นอน และมีลักษณะเป็นแนวแถวทอดไปอย่างเป็นระเบียบ
เส้นประธานสิบ
1. เส้นอิทา
2. เส้นปิงคลา
3. เส้นสุมนา
4. เส้นกาลทารี
5. เส้นสหัศรังสี
6. เส้นทวารี
7. เส้นจันทภูสัง
8. เส้นรุชำ
9. เส้นสุขุมัง
10. เส้นสิกขินี
กลอน 8 กล่าวถึง "เส้นประธาน 10 เส้น" สืบทอดกันมา ดังนี้
"... เป็นหมอนวด อย่าลบหลู่ ดูถูกเส้น ต้องรู้เห็น เส้นสาย ได้ทุกที่
เส้นประธานสิบ หลักฐาน โบราณมี รอบนาภี เเยกเส้นสาย ให้พลัง..."
1. "เส้นอิทา" ผ่านหัวเหน่า เข้าเข่าซ้าย พอเข้าไกล้ หัวเข่า วกเข้าหลัง... ผ่านศีรษะ มาจมูกซ้าย ให้ระวัง โรคปวดหลัง ตามัว ปวดหัวจริง
2. "เส้นปิงคลา" เกิดสลับ กับอิทา อยู่ด้านขวา ทุกอย่าง ที่อ้างอิง... อาการโรค ละม้าย คล้ายกันจริง นวดกดนิ่ง หน้า หัว ทั่วท้ายทอย
3. "เส้นสุมนา" ผ่านหัวใจ ไปโคนลิ้น ยากกลืนกิน พูดจา หน้าละห้อย... ลิ้นกระด้าง คางเเข็ง เรี่ยวเเรงน้อย จิตเหงาหงอย คลุ้มคลั่ง ต่างๆ นาๆ
4. "เส้นกาลทารี" กลางนาภี เเยกสี่เส้น มีสองเส้น ร้อยสะบักใน สู่ใบหน้า... เเล้ววกกลับ เเขนขวาซ้าย ปลายนิ้วนา สองบาทา เเยกหนึ่งเส้น เป็นสำคัญ
5. "เส้นสหัสรังษี" ลงที่เท้าซ้าย วกขึ้นไป เเล่นลอด ทอดเต้าถัน... เเนบลำคอ ขากรรไกร ใบหน้าพลัน ไปสุดกัน ที่ตาซ้าย ให้จดจำ
6. "เส้นทวารี" สลับกับรังษี ทุกเส้นที่ อยู่ทางขวา ดูนำขำ... กินของมัน หวานเกินไป ไม่ควรทำ กินประจำ ผลสนอง เกี่ยวข้องตา
7. "เส้นจันทภูสัง" ไปยังนมซ้าย เลยออกไป หูซ้าย ไม่กังขา
8. "เส้นรุชำ" สลับกับ ภูสังนา ไปหูขวา ถ้าหูตึง คลึงเส้นนี้
9. "เส้นสิขิณี" ไปที่ อวัยวะเพศ มีสาเหตุ จากไต ไม่ได้ที่... โรคโลหิต มดลูก ทุกนารี นวดเส้นนี้ เอว สะโพก โรคทุเลา
10. "เส้นสุขุมัง" หยุดยั้ง ทวารหนัก ลำไส้พัก จุดผาย ถ่ายของเก่า... ถ้ากินได้ ไม่ถ่าย จะตายเอา นวดเบาๆ หน้าท้อง คล่องระบาย
"... ทั้งสิบเส้น ที่กล่าว คร่าวๆ นี้ เพื่อช่วยชี้ ช่วยจำ นำขยาย
เป็นหมอนวด ต้องฝึกฝน จนวันตาย มันไม่ง่าย เหมือนปอกกล้วย ช่วยคิดเอย..."
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
ทฏษฎีเส้นประธานสิบ
เส้นประธานสิบ เป็นเส้นที่มีการปรากฎอาการและอาการลมต่างๆ รวมทั้งการวินินฉัย อาการและการกดนวด เพื่อบำบัดอาการ เส้นประธานสิบเป็นเส้นสมมุติ มีการกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ลักษณะและคุณลักษณะเส้นประธานสิบ
• เป็นเส้นขออยู่บริเวณท้องรอบสะดือ
• อยู่ลึกลงไปในกล้ามเนื้อ บริเวณท้อง ประมาณ 2 นิ้ว แล้วแต่ความหนาของกล้ามเนื้อ หน้าท้อง
• เส้นแล่นขดกระหวัด กระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
• เส้นแต่ละเส้นแล่นไปตามแนวของแต่ละเส้นอย่างมีระเบียบ
• เส้นแต่ละเส้นมีแนวเส้นร่วมของแต่ละเส้นกระจายอยู่ทั่วร่างกาย
• เส้นร่วมของเส้นประธานสิบ มีส่วน ที่เกี่ยวกระหวัดกัน
• เส้นประธานสิบแต่ละเส้น มีคุณลักษณะ เป็นเส้นที่สำคัญ กับระบบอวัยวะภายในร่างกาย ตามแต่ส่วนสัมพันธ์ของแต่ละเส้น
• เส้นประธานสิบแต่ละเส้น มีคุณลักษณะ เป็นเส้นประจำธาตุของร่างกาย (ใช้เพื่อการกดนวด บำบัด อาการและอาการของลมบางอาการ โดยต้องใช้หลักการวินิจฉัย ธาตุสมุฎฐาน คือวินิจฉัยจากอาการ และสมมุติฐานหนึ่ง)
• เส้นประธานสิบแต่ละเส้น มีลมแล่นอยู่ประจำเส้น
• เส้นประธานสิบเป็นเส้นประจำฤดูกาล (ใช้กรณีต้องการใช้การวินิจฉัยฤดูสมุฎฐาน คือวินิจฉัย ตามเหตุของอาการ และสมมุติฐานหนึ่ง)
1. เส้นอิทา
ก). จากตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง "เส้นอิทา" ว่า ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 2 นิ้ว เยื้องซ้าย 1 นิ้ว และอยู่ลึกลงไป 2 นิ้วแล่นไปที่ต้นขาด้านซ้ายถึงเข่า แล้ววกกลับมาต้นขาด้านหลัง แล่นขึ้นแนบกระดูกสันหลังซ้าย ถึงคอ ถึงศีรษะ แล้ววกกลับมาริมจมูกซ้าย ลมประจำ เรียกว่า ลมจันทรกะลา
ข). จากตำราการแพทย์ไทยเดิม กล่าวถึง "เส้นอิทา" ว่า จุดเริ่มต้นอยู่ห่างจากสะดือ ไปทางซ้วยมือประมาณ 2 นิ้วมือ แล่นลงไปที่หัวเหน่า และลงไปต้นขาเบื้องซ้ายด้านหน้า จนถึงเหนือหัวเข่า แล้วอ้อมไปทางซ้าย จดกึ่งกลางต้นขาด้านหลัง แล่นขึ้นบน ผ่านกึ่งกลางแก้มก้น ไปข้างกระดูกสันหลัง ขึ้นไปข้างกระดูกสันคอ กระหวัด ขึ้นไปบนศีรษะลง ที่หน้าผาก ไปข้างสันจมูก มาประจำอยู่ที่ข้างจมูกซ้าย
ค). อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวถึง "เส้นอิทา" ว่า มีตำแหน่งอยู่ห่างจากข้างซ้ายของสะดือประมาณ 1 นิ้ว และอยู่ลึกลงไปประมาณ 2 นิ้ว แนวเส้นแล่นออกไปดังนี้
• แล่นลงไปที่บริเวณ หัวเหน่า
• ผ่านลงมาต้นขาด้านใน แล่นลงไปที่บริเวณเหนือ ข้อกระดูก เข่าด้านใน แล่นเข้าไปในใต้พับข้อเข่า
• แล่นขึ้นกลับมา ที่เหนือข้อกระดูก ด้านนอก แล่นขึ้นจากต้นขาซ้ายด้านนอก
• แล่นขึ้นผ่านเข้าใปในตะโพกด้านซ้าย
• แล่นขึ้นไปข้างแนวกระดูกสันหลัง บริเวณระดับเอว (ชิดกระดูกสันหลัง ส่วนที่แหลม ข้าง ระหว่างกระดูกเอว ชิ้นที่ 1 และชิ้นที่ 2)
• แล่นขึ้นแนบแนวกระดูกสันหลัง ด้านซ้าย แล่นต่อเนื่อง ขึ้นไปข้างกระดูกคอ ขึ้นตลอดไปบนศีรษะ
• วกกลับลงมาผ่าน บริเวณหน้าผาก เข้าไปในจมูกข้างซ้าย
2. เส้นปิงคลา
ก). จากตำราแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง "เส้นปิงคลา" ว่า ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 2 นิ้ว เยื้องขวา 1 นิ้ว แล่นไปต้นขาด้านขวาถึงเข่า แล้ววกกลับมา ต้นขาด้านหลัง แล่นขึ้นแนบกระดูกสันหลัง ถึงคอ ถึงศีรษะ แล้ว วกกลับมาที่ ริมจมูกขวา ลมประจำชื่อ ลม ศูญทะกะลา
ข). จากตำราการแพทย์ไทยเดิม กล่าวถึง "เส้นปิงคลา" ว่า จุดเริ่มต้น อยุ่ห่างจากสะดือ ไปทางขวาประมาณ 2 นิ้วมือ แล่นลงไปหัวเหน่า และลงไปต้นขาเบื้องขวา ด้านหน้า จนถึงเหนือหัวเข่า แล้วอ้อมไปทางขวา จดกึ่งกลางต้นขาด้านหลัง แล่นขึ้นบนผ่านกึ่งกลางแก้มก้น ไปข้างกระดูกสันหลัง ขึ้นไปข้างกระดูกสันคอ กระหวัดขึ้นไปบนศีรษะ ลงมาที่หน้าผาก ไปข้างสันจมูก มาประจำอยู่ที่จมูกข้างขวา
ค). ส่วนอาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวถึง "เส้นปิงคลา" ดังนี้ "เส้นปิงคลา" มีตำแหน่งอยู่ห่างจากข้างขวา ของสะดือประมาณ 1 นิ้ว และอยู่ลึกลงไปประมาณ 2 นิ้ว แนวเส้น แล่นเช่นเดียวกับเส้นอิทา แต่อยุ่ซีกขวาของลำตัว มีแนวเส้นแล่นออกไปดังนี้
• แล่นลงไปที่บริเวณหัวเหน่า
• ผ่านลงมาต้นขาด้านใน แล่นลงไปที่บริเวณเหนือ ข้อกระดูก เข่าด้านใน แล่นเข้าไปในใต้พับข้อเข่า
• แล่นขึ้นกลับมา ที่เหนือข้อกระดูก ด้านนอก แล่นขึ้นจากต้นขาซวาด้านนอก
• แล่นขึ้นผ่านเข้าใปในตะโพกด้านขวา
• แล่นขึ้นไปข้างแนวกระดูกสันหลัง บริเวณระดับเอว (ชิดกระดูกสันหลัง ส่วนที่แหลม ข้าง ระหว่างกระดูกเอว ชิ้นที่ 1 และชิ้นที่ 2)
• แล่นขึ้นแนบแนวกระดูกสันหลัง ด้านขวา แล่นต่อเนื่อง ขึ้นไปข้างกระดูกคอ ขึ้นตลอดไปบนศีรษะ
• วกกลับลงมาผ่าน บริเวณหน้าผาก เข้าไปในจมูกข้างขวา
3. เส้นสุมนา
ก). จากตำราแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และตำราการแพทย์ไทยเดิม กล่าวถึง "เส้นสุมนา" ว่า ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องเหนือสะดือ 2 นิ้ว แล่นขึ้นไปในทรวงอก ถึงลำคอ ไปสิ้นสุดที่โคนลิ้น เรียกว่า รากเส้นลิ้น ลมประจำเรียกว่า ลมชิวหาสดมภ์
ข). ส่วนข้อเขียน อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า "เส้นสุมนา" มีตำแหน่งอยู่เหนือสะดือ ขึ้นไปประมาณ 3 นิ้ว อยู่กึ่งกลางระหว่างสะดือ กับใต้บริเวณกระดูกอก และอยู่ลึกลงไป ประมาณ สองนิ้ว มีแนวเส้นแล่นดังนี้
• แนวเส้นแล่น ขึ้นจากเหนือสะดือ ขึ้นไปใต้กระดูกอก
• แล่นขึ้นผ่าน ลำคอ ไปจรดโคนลิ้น
4. เส้นกาลธารี (กาละธารี, กาละทารี)
ก). ตำราแพทย์แผนโบราณสาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง "เส้นกาลธารี (กาละธารี, กาละทารี)" ว่า ตั้งต้นที่ที่กึ่งกลางท้อง แล้วแตกเป็น 4 เส้น สองเส้นบนเหนือสะดือ 1 นิ้ว แล่นผ่านราวนมทั้งสองข้าง ถึงข้อมือทั้งสองข้าง แล้วเลยไปที่นิ้วมือทั้งสิบ 2 เส้นล่างใต้สะดือ 1 นิ้ว แล่นไปที่ขาทั้งสอง ถึงข้อเท้าทั้งสองข้าง แล้วเลยไปที่นิ้วเท้าทั้งสิบ
ข). ตำราการแพทย์ไทยเดิม กล่าวถึง "เส้นกาลธารี (กาละธารี, กาละทารี)" ว่า เส้นนี้แบ่งออกเป็น 4 เส้น 2 เส้นเริ่มจากเหนือสะดือ อีก 2 เส้น เริ่มจากใต้สะดือ
- เส้น 2 เส้นเหนือสะดือ เริ่มต้นจากเหนือสะดือ ประมาณ 2 นิ้วมือ แยกเป็น 2 ส่วน แล่นไปตามราวนมข้างขวาและซ้าย ไปต้นแขนทั้งสองข้าง จากจุดต้นแขน แบ่งเส้นแล่นขึ้นบนไปจด บริเวณไหปลาร้า และแล่นลงล่าง ไปตามท้องแขน ไปถึงปลายแขน และแยกออกไปข้างละ 5 เส้น ไปถึงปลายนิ้วมือแต่ละนิ้วมือ
- เส้น 2 เส้น ใต้สะดือ เส้น 2 เส้นนี้ ห่างลงมาจากจุดอิทา และปิงคลา ประมาณ 2 นิ้วมือ แล่นลงไปต้นขาทั้งสองข้าง ลงไปตามลำแข้งทั้งสอง ตลอดลงไปถึงข้อเท้า และแยกออกข้างละ 5 เส้น ไป ถึงปลายเท้าแต่ละนิ้วมือ
ค). ส่วนของอาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึง "เส้นกาลธารี (กาละธารี, กาละทารี)" ว่า มีตำแหน่งอยู่เหนือสะดือ ห่างขึ้นไปประมาณ 2 นิ้ว อยู่ลึกลงไป ประมาณ 2 นิ้ว แนาแล่น ของเส้นแยก ออกเป็น 4 เส้น แนวแล่นของเส้น แล่นออกไปดังนี้
• แนวแล่น 2 เส้น แล่นทแยง ไปสู่ชายโครง ไปที่กระดูกชายโครงคู่ที่ 1
• แนวเส้นวิ่งไปที่ไหล่ แล้ว ขดแยกไปเหนือสะบักหลัง ไปข้างกระดูกคอ ชิ้นที 1
• แล่นผ่านรอยบุ๋ม ข้างคอ วกไปที่ศีรษะ แล้วกลับลวมาที่หู
• แนวแล่นอีกทางหนึ่ง แล่นจากเหนือสะบักหลัง มาทีไหล่
• แนวแล่นทั้งสอง จากไหล่ ลงมาตามหลังแขน
• แล่นผ่านข้อศอกลงมาท่อนแขน ( กล้ามเนื้อแขนท่อนล่าง)
• แล่นผ่านบริเวณกลางข้อมือ ไปที่นิ้วมือทั้งห้า
• แนวแล่นอีกสองเส้น แล่นออกจากท้องลงมาต้นขาด้านใน
• ผ่านบริเวณน่อง ห่างกระดูกสันหน้าแข้งด้านใน แล้วมากลางหลังเท้า
• แล่นผ่านบริเวณข้อเท้า แล้วแยกเป็นห้าเส้น ไปที่นิ้วเท้า ทั้งห้า
การแล่นของ "เส้นกาลธารี (กาละธารี, กาละทารี)" หมายถึง ข้างละเส้น และแนวเส้นที่แล่นไปที่ไหล่ จะมีลักษณะ กระหวัด เกี่ยวระหว่างสะบักหลังไปที่ไหล่ และแล่นไปที่คอ ไปบนศีรษะ กลับมาที่ไหล่ แล้วจึงแล่น ลงมาที่แขนไป ที่นิ้วมือทั้งห้า
5. เส้นสหัสรังษี
ก). ตำราแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง "เส้นสหัสรังษี" ว่า ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องจากสะดือมาทางซ้ายมือ 3 นิ้ว แล่นไปที่ขาซ้ายด้านในถึงฝ่าเท้า แล่นผ่านโคนนิ้วเท้าทั้งห้า แล้วกลับมาที่สันหน้าแข้งซ้าย แล่นผ่านราวนมซ้าย รอดไหปลาร้า รอดขากรรไกรไปสุดที่ ใต้ตาซ้าย เรียกว่า เส้นรากตาซ้าย
ข). ตำราการแพทย์ไทยเดิม กล่าวถึง "เส้นสหัสรังษี" ว่า จุดเริ่มต้นอยู่ต่ำกว่าสะดือ ประมาณ 2 นิ้วมือ แล่นลงไปต้นขาด้านใน ลงไปตามหน้าแข้งด้านใน จนจดปลายเท้า ข้างซ้ายด้านใน และกระหวัด กลับมาทางหน้าแข้งด้านนอก ขึ้นไปต้นขา และกระหวัด กลับมาทาง ต้นขา ใกล้สะโพก ขึ้นไปตามชายโครง ซ้าย ด้านหน้า ผ่านหัวนม ไปใต้คางซ้าย ขึ้นไปยังใต้นัยน์ตาข้างซ้าย
ค). ส่วนข้อเขียน อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึง "เส้นสหัสรังษี" ว่า มีตำแหน่งอยู่ข้างซ้ายของสะดือ ห่างออกไปประมาณ 2 นิ้ว และอยู่ห่างจากเส้นอิทา 1 นิ้ว อยู่ลึกลงไปประมาณ 2 และอยู่ห่างจากเส้นอิทาออกไป 1 นิ้ว แนวแล่นของเส้นดังนี้
• แล่นลงไปที่ต้นขาซ้ายด้านใน
• แล่นผ่านบริเวณข้างกระดูกข้อเข่าด้านใน
• แล่นต่อลงไป ริมข้างกระดูก สันหน้าแข้งด้านใน ผ่านชิดหน้าแข้งถึงตาตุ่ม ด้านใน
• แล่นผ่านริมฝ่าเท้าด้านในทั้งหมด วกผ่านโคนนิ้วเท้าทั้งห้า
• และวก ผ่านริมฝ่าเท้าด้านใน วกผ่านโคนนิ้วเท้าทั้งห้า
• และวกผ่านริมฝ่าเท้าด้านนอก ผ่านส้นเท้าด้านนอก
• แล่นขึ้นผ่านบริเวณข้างกระดูกข้อเข่าด้านนอก
• แล่นขึ้นแนวต้นขาด้านนอก วิ่งเข้าโคนขาด้านหน้า แล้วผ่านไปที่ท้อง
• แล่นผ่านขึ้นไปบริเวณท้อง
• แล่นขึ้นไปบริเวณนม ขึ้นผ่านลำคอด้านหน้า
• และแล่นขึ้นไปบริเวณใบหน้าในบริเวณตาข้างซ้ายเข้าในโพรงตา
6. เส้นทวารี (ทุวารี, ตาขวา)
ก). หนังสือจากตำราแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "เส้นทวารี (ทุวารี, ตาขวา)" ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องจากสะดือ มาทางขวามือ 3 นิ้ว แล่นไปที่ขาขวาด้านในถึงฝ่าเท้า แล่นผ่านโคนนิ้วเท้าทั้งห้า แล้ววกกลับมาสันหน้าแข้งขวา แล่นผ่านราวนมขวา รอดไหปลาร้า รอดขากรรไกร ไปสุดที่ใต้ตาขวา เรียกว่า เส้นรากตาขวา
ข). ส่วนข้อเขียนของ อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวเกี่ยวกีบ "เส้นทวารี (ทุวารี, ตาขวา)" มีตำแหน่งอยู่ข้างขวาของสะดือ ห่างออกไป 2 นิ้ว และอยู่ห่างจาก "เส้นปิงคลา" 1 นิ้ว อยู่ลึกลงประมาณ 2 นิ้ว แนวแล่นของเส้นคล้ายกับเส้นสหัสรังสี แต่แล่นด้านขวา แนวแล่นของเส้นดังนี้
• แล่นลงไปที่ต้นขาซวาด้านใน
• แล่นผ่านบริเวณข้างกระดูกข้อเข่าด้านใน
• แล่นต่อลงไป ริมข้างกระดูก สันหน้าแข้งด้านใน ผ่านชิดหน้าแข้งถึงตาตุ่ม ด้านใน
• แล่นผ่านริมฝ่าเท้าด้านในทั้งหมด วกผ่านโคนนิ้วเท้าทั้งห้า
• และวก ผ่านริมฝ่าเท้าด้านใน วกผ่านโคนนิ้วเท้าทั้งห้า
• และวกผ่านริมฝ่าเท้าด้านนอก ผ่านส้นเท้าด้านนอก
• แล่นขึ้นผ่านบริเวณข้างกระดูกข้อเข่าด้านนอก
• แล่นขึ้นแนวต้นขาด้านนอก วิ่งเข้าโคนขาด้านหน้า แล้วผ่านไปที่ท้อง
• แล่นผ่านขึ้นไปบริเวณท้อง
• แล่นขึ้นไปบริเวณนม ขึ้นผ่านลำคอด้านหน้า
• และแล่นขึ้นไปบริเวณใบหน้าในบริเวณตาข้างซวา เข้าในโพรงตา
7. เส้นจันทภูสัง หรือลาวุสัง
ก). หนังสือตำราแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "เส้นจันทภูสัง หรือลาวุสัง" ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องจากสะดือมาทางซ้าย 4 นิ้ว แล่นผ่านราวนมซ้าย รอดไหปลาร้า รอดขากรรไกร ไปสุดที่หูขวา เรียกว่า เส้นรากหูซ็าย
ข). ส่วนหนังสือนวดไทย โดย อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า "เส้นจันทภูสัง หรือลาวุสัง" มีตำแหน่งอยู่ที่ข้างซ้ายของสะดือ ห่างออกไป ประมาณ 3 นิ้ว อยู่ลกลงไปประมาณ 2 นิ้ว แนวแล่นของเส้นดังนี้
• แนวเส้นแล่นขึ้นไปราวนมข้างซ้าย
• แล่นขึ้นผ่านก้านคอ แนบชิดก้านคอ
• และแล่นขึ้นไปหลังหูเข้าไปในหูข้างซ้าย
8. เส้นรุชำ หรือ อุรังกะ (รุทัง)
ก). หนังสือตำรา แพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "เส้นรุชำ หรือ อุรังกะ (รุทัง)" ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้อง จากสะดือมาทางขวามือ 4 นิ้ว แล่นผ่านราวนมขวา รอดไหปลาร้า รอดขากรรไกร ไปสุดที่หูขวา เรียกว่า เส้นรากหูขวา
ข). หนังสือนวดไทย โดย อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า "เส้นรุชำ หรือ อุรังกะ (รุทัง)" มีตำแหน่งอยู่ที่ข้างซวาของสะดือ ห่างออกไป ประมาณ 3 นิ้ว อยู่ลกลงไปประมาณ 2 นิ้ว แนวแล่นของเส้นดังนี้
• แนวเส้นแล่นขึ้นไปราวนมข้างขวา
• แล่นขึ้นผ่านก้านคอ แนบชิดก้านคอ
• และแล่นขึ้นไปหลังหูเข้าไปในหูข้างซวา
9. เส้นสุขุมัง หรือ นันทะกะหวัด
ก). หนังสือตำราแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "เส้นสุขุมัง หรือ นันทะกะหวัด" ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 3 นิ้ว เวลากดเยื้องซ้ายเล็กน้อย แล่นไปที่ทวารหนัก
ข). ส่วนหนังสือ นวดไทย ของ อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า "เส้นสุขุมัง หรือ นันทะกะหวัด" มีตำแหน่งอยู่ต่ำ จากสะดือ ห่างลงมา ประมาณ 1 นิ้ว อยู่ลึกลงไปประมาณ 2 นิ้ว แนวแล่นของเส้นดังนี้
• แล่นลงไปบริเวณหัวเหน่า
• แล้วแล่นกระหวัด (ขด) ทวารอุจจาระ
• แล้วยังกระหวัด ทวารปัสสาวะ
10. เส้นสิขินี หรือ คิชฌะ
ก). หนังสือ ตำราแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "เส้นสิขินี หรือ คิชฌะ" ตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องใต้สะดือ 3 นิ้ว เวลากดเยื้องขวาเล็กน้อย แล่นไปที่ ทวารเบา
ข). ส่วนหนังสือ นวดไทย ของ อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า "เส้นสิขินี หรือ คิชฌะ" มีตำแหน่งต่ำ จากสะดือ ห่างลงมาประมาณ 2 นิ้ว และอยู่ลึก ลงไป ประมาณ 2 นิ้ว แนวแล่นของเส้นออกไปดังนี้
• แนวเส้นแล่นลงไปใน หัวเหน่า ไปที่องคชาติผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิง จะเข้าไปในบริเวณอวัยวะเพศหญิง
นอกจากนี้ ยังพบจากการบันทึกของการแพทย์แผนโบราณ นอกจากเส้นประธานสิบแล้ว ยังมีเส้นอื่นๆ อีก ที่กระหวัดอยู่ในร่างกายถึง 72,000 เส้น ตัวอย่างเช่น มีแนวแล่นของเส้น ที่อยู่ท้อง ใกล้ สะเอวข้างละ 3 เส้น แต่ละเส้นมีอาการและอาการของลม ที่เกี่ยวกับอาการของบริเวณหลังอยู่หลายอาการ เส้น 3 เส้น นี้คือ 1. เส้นสันทฆาต 2. เส้นปัตตฆาต และ 3. เส้นรัตตฆาต
1. "เส้นสัทฆาต" แนวแล่นของเส้น อยู่ทั้งด้านซ้าย และด้านขวา ของบริเวณท้องใกล้สะเอว "เส้นสันฑฆาต" อยู่ห่างจากสะดือ 4 นิ้ว มีแนวแล่นออกดังนี้
• แล่นลงมาที่ต้นขาด้านใใน
• แล่นผ่านใน ใต้พับกระดูกข้อเข่า
• แล่นลงไปขาที่ ในบริเวณกล้ามเนื้อน่อง
• แล่นลงไปที่ ริมเท้าใต้ตาตุ่ม หลังข้อเท้า
• แล่นเข้าไปในฝ่าเท้า เข้าอุ้งเท้า แต่ไม่ผ่านโคนนิ้วเท้า
• แล่นวกกลับมาที่บริเวณณด้านนอก
• แล่นขึ้นผ่านใต้พับเข่า
• แล่นขึ้นไปต้นขาด้านนออก
• แล่นเข้าไปในตะโพก ขึ้นไปที่ในบริเวณ กล้ามเนื้อหลัง
• แล่นต่อเนื่อง ไปที่สะบักหลัง
• ผ่านมาที่ บริเวณราวนม (สะบักหน้า) ใต้ต่อกระดูกไหปราร้า ไปขึ้นที่คอ แล้ววกกลับที่ท้อง
2. "เส้นปัตตฆาต" ตำแหน่งต่ำ จากเส้น "สันฑฆาต" อีก 1 นิ้ว ต่างกับ "สันฑฆาต" คือ จะค่อนข้างมาทางด้านสะเอวขึ้นไปที่บ่า ลงมาด้านหน้า กลับมาที่ท้องเหมือนเดิม
3. "เส้นรัตตฆาต" แนวแล่นของเส้นรัตตฆาต แล่นลงมา ใกล้กับแนวแล่นของ "เส้นสันฑฆาต" และ "เส้นปัตตฆาต" แต่เมื่อขึ้นไปในตะโพกแล้ว แนวแล่นของเส้นนี้ จะแล่นผ่านริมข้อกระดูกตะโพก ด้านใน ขึ้นไปที่สเะเอว และ เลยขึ้นไปอยู่ในบริเวณ ชายโครงเลยไปที่บริเวณรักแร้ด้านใน
เอกสารอ้างอิง
1. ตำราการแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม โดยกองประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
2. การนวด-นวดสากล, นวดเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน, นวดไทย, นวดจีน: โดย อาจารย์ รัตติยา จินเดหวา, โครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, พ.ศ. 3539
3. การแพทย์ไทยเดิม ฉบับอนุรักษ์ พ.ศ. 2534
4. คู่มือการอบรมการนวดไทย โครงการพัฒณาตำรา มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒณา