ขมิ้นชัน
พืชน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพของไทย
"ขมิ้นชัน พืชน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพของไทย" เป็นพืชสมุนไพรที่ได้รับความนิยมใช้กันมาช้านานแล้วและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ อย่างมากมาย ทั้งในรูปแบบของยา ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สีผสมอาหาร สีย้อมผ้าและเตรื่องสำอาง ตลอดจนผลิตภัณฑ์ของน้ำมันหอมระเหย
จากรายงานการวิจัยของสถาบันการวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขมิ้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ฤทธิ์ในการช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อย ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดการอักเสบ ฯลฯ ทำให้สมุนไพรนี้ได้รับความสนใจทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศอย่างมาก
องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของ "ขมิ้น" คือ ส่วนของเหง้า ขมิ้นชันประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย มีสีเหลืองอ่อน มีสารสำคัญหลักคือ เทอร์เมอโรน และซิงจิเบอรีน นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มเซสควิเทอร์ปีน และโมโนเทอร์ปีน อื่น ๆ อีกหลายชนิด และสารสำคัญประเภทเคอร์คูมินอยด์ เป็นสารสีเหลือง ประกอบด้วย เคอร์คูมิน (Circumin) เดสเมทอกซีเคอร์คูมิน (Desmethoxycurcumin) และบิสเดสเมทอกซีเคอร์คูมิน ( Bisdesmethoxycurcumin)
แม้ว่า "ขมิ้นชัน" จะมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปัจจุบันมีการปลูกทั่วไปในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและร้อนชื้นทั่วโลก ซึ่งมีมากมายหลายสายพันธุ์
จากหนังสือเรื่องชุด มาตรฐานสมุนไพรไทย เล่มที่ 2 ของสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขมิ้นชันที่ดีในตลาดโลกมีมากกว่า 50 สายพันธุ์ ส่วนมากมาจากอินเดีย วึ่งจำแนกสายพันธุ์โดยใช้คุณสมบัติต่าง ๆ ทางด้านรูปร่าง ลักษณะ ขนาด สี กลิ่น และอายุเหง้าที่สมบูรณ์พร้อมเก็บเกี่ยว มีทั้งสายพันธุ์อายุพร้อมเก็บเกี่ยวสั้น 7 เดือน สายพันธุ์อายุพร้อมเก็บเกี่ยวยาว 9 เดือน และสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดีมีปริมาณสารสำคัญสูง เช่น สายพันธุ์ Suvarna-PCT-8 ของอินเดีย ให้ผลผลิตดี 40-43 ตัน/เฮกแตร์ (ประมาณ 6.4-6.8 ตันไร่) และมีสารเคอร์คูมิน 8.7%
ส่วนในประเทศไทย งานรวบรวมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ปลูกยังมีผู้ดำเนินการน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังคงใช้พันธุ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นหรือจากแหล่งขายวัตถุดิบ ในปี พ.ศ. 2543 รายงานผลการรวบรวมพันธุ์ปลูกไว้ที่ศูนย์วิจัยพืชตรัง ของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 10 สายพันธุ์ พบว่าสายพันธุ์ชุมพร 27058701 มีสารเคอร์คูมิน 9.74 % แต่ให้ผลผลิตประมาณ 3 ตัน/ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับสายพันธุ์อื่น ที่รวบรวมไว้ทั้ง 9 สายพันธุ์
แต่อย่างไรก้ตาม มีผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในขมิ้นชันที่เก็บจากแหล่งปลูกต่าง ๆ ในประเทศไทย จำนวน 44 ตัวอย่าง ที่ไม่ได้ระบุสายพันธุ์ และอายุการเก็บเกี่ยวพบว่า มีความแปรผันสูงมากระหว่างถูมิภาคของประทศ โดยพบปริมาณเคอร์คูมินอยด์ มีค่าแปรผันระหว่าง 4.74-22.57 % และปริมาณน้ำมันหอมระหว่าง 6-16% รวมทั้งพบว่า มีความแปรผันมากจากตัวอย่างที่เก็บจากแหล่งปลูกภายในจังหวัดเดียวกัน
......................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
......................................................................................
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนังสือเรื่องชุด มาตรฐานสมุนไพรไทย เล่มที่ 2 ก็ได้แนะนำว่า หากสนใจนำขมิ้นมาใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจ จะต้องให้ความสำคัญกับการคัดเลือกสายพันธุ์ ซึ่งมีข้อควรคำนึงดังนี้
- ควรเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพด้านปริมาณสารสำคัญที่ใช้ประโยชน์ ตรงตามกำหนดมาตรฐานการผลิตยา หรือมาตรฐานตลาดการค้าของโลกสำหรับตามข้อกำหนดในตำรายาสมุนไพรของไทย ระบุว่าต้องมีปริมาณเคอร์คูมินอยด์ไม่ต่ำกว่า 5 % และมีน้ำมันหอมระเหยไม่ต่ำกว่า 6 %
- ควรเลือกพันธุ์ที่มีคุณลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ เหง้าสมบูรณ์ มีอายุการเก็บเกี่ยวระหว่าง 7-8 เดือน หรือตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไป เหง้าที่ใช้ทั้งหัวหรือแง่ง ควรมีตามากกว่า 2-5 ตาขึ้นไป และเหง้าสมบูรณ์ มีความแกร่งไม่เล็กลีบ ควรมีตามากกว่า 2-5 ตาขึ้นไป และเหง้าสมบูรณ์ มีความแกร่งไม่เล็กลีบ ปราศจากโรคแมลง สัตว์ ศัตรูพืช
ทว่า เราต้องไม่มองข้ามการเก็บรักษาเหง้าหรือเหง้าสด ไว้สำหรับฤดูกาลต่อไป เพราะการเก็บรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดหรือหลีกเลี่ยงความเสียหายของเหง้าพันธุ์ได้ โดยทั่วไปนิยมเก็บ 2 วิธี คือ
- วางผึ่งไว้ในที่ร่ม สะอาด ปราศจากโรค แมลงและสัตว์ต่าง ๆ รบกวน มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ผิวสัมผัสหรือพื้นที่เก็บต้องแห้ง ปราศจากความชื้น
- ฝังในทรายหยาบละเอียด เย็นและชื้น ในที่ร่ม กรณีที่อาจมีโรคและแมลงติดมากับเหง้าที่จะเก็บทำพันธุ์ควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดแมลง หรือสารป้องกันกำจัดรา โดยระมัดระวังและต้องปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากกำกับ ควรผึ่งท่อนพันธุ์ให้แห้งก่อนฝังทราย
นั่นเป็นวิธีเบื้องต้น ในการคัดเลือกสายพันธุ์ของขมิ้นให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
► การปลูกขมิ้น
จากเอกสารสมุนไพรกับการพัฒนาสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขมิ้นชันชอบอากาศชื้น ดินร่วนปนทราย ระบายนำดีไม่ชอบดินเหนียวและดินลูกรัง ขมิ้นชันสามารถปลูกได้ในสวนผลไม้เนื่องจากร่มเงาของผลไม้ไม่เป็นอุปสรรค ต่อการเจริญเติบโตของขมิ้น แค่ควรหลีกเลี่ยงการปลูกชิดโคนไม้ผลเพราะจะทำให้ผลผลิตต่ำ
ฤดูที่เหมาะสมในการปลูก "ขมิ้นชัน"
คือหน้าฝน แต่ควรเริ่มปลูกตั้งแต่ต้นฤดูฝนคือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ส่วนในฤดอื่น ๆ ขมิ้นชันมีการฟักตัวไม่ยอมงอก ถึงแม้จะให้น้ำหลังการปลูกก็ตาม
ด้านขยายพันธุ์ "ขมิ้นชัน"
สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งหัวและเหง้า ในกรณีการขยายพันธุ์ด้วยหัว ขมิ้นชันจะเจริญเติบโตและแตกเหง้าดี ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เนื่องจากในหัวมีอาหารสะสมอยู่มาก แต่มีข้อเสียคือ ต้องการใช้หัวทำพันธุ์ในในปริมาณมากจะหาไม่ได้ เพราะในการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง 1 ต้น จะมีเพียง 1 หัวเท่านั้น
ในกรณีการขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งเหง้า เป็นที่นิยมของเกษตรกรเพราะเหง้าพันธุ์เมื่อต้องการปริมาณมากจะหาได้ง่ายกว่าหัว ส่วนการเจริญเติบโตก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพขนาดและความสมบูรณ์ของเหง้า
เหง้าพันธุ์ที่ใช้ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ควรใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 350-420 กิโลกรัม และเหง้าหัวที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้ มีตาหรือแง่งที่สมบูรณ์ไม่เล็กลีบ มีอายุระหว่าง 7-9 เดือน ปราศจากโรคและแมลง ซึ่งทางที่ดีควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงที่ติดมากับหัวหรือเหง้าพันธุ์ ขนาดของเหง้าพันธุ์ควรมีตาหรือแง่งอย่างน้อย 3-5 ตาหรือแง่ง
การเตรียมดิน
ต้องไถ พรวน หรือขุดดิน เพื่อทำให้ดินร่วนซุย น้ำและอากาศผ่านถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ขมิ้นชันแตกเหง้าและเจริญเติบโตดี ตลอดจนการกำจัดวัชพืชไปในตัว ทั้งนี้การไถ พรวน ต้องทำ 2 ครั้งคือ การไถดะเพื่อกำจัดวัชพืชและเปิดหน้าดินให้ร่วนซุย แล้วตากดินไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อทำลายเชื้อโรคและไข่แมลงในดิน และการไถแปรเพื่อกลับหน้าดินขึ้นและทำให้ดินร่วนซุยมากขึ้น พร้อมเก็บตอไม้ เศษไม้ และวัชพืชออกจากแปลงปลูกให้หมด
ถ้าเป็นดินเหนียวจัดควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปู๋ยคอก อัตรา 1 ตัน/ไร่ เพื่อปรุงดิน การเตรียมดินควรไถพรวนก่อนต้นฤดูฝน ให้มีสภาพพร้อมปลูกในต้นฤดุฝน
การเตรียมแปลงปลูก
มี 2 รูปแบบคือ แปลงปลูกสภาพพื้นราบเหมาะกับพื้นที่ที่มีการระบายน้ำได้ดี และแปลงปลูกแบบยกร่อง เหมาะกับสภาพพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่ราบต่ำ มีการระบายน้ำไม่ดี ขนาดร่องแปลงปลูกที่ง่ายต่อการดูแลรักษาควรกว้างประมาณ 1.20 เมตร สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ขนาดความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และขนาดของพื้นที่ แต่ละแปลงควรเว้นช่องห่างประมาณ 0.5 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเดินสำหรับการดูแลของผู้ปลูก
การปลูก
ควรปลุกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เพราะพืชจะได้มีช่วงระยะการเจริญเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ตลอดฤดูฝน หน่อจะงอกประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังการปลูก และดอกจะออกในเดือนกรกฎาคม-กันยายน
ขมิ้นที่อายุปลูกได้ประมาณ 4-5 เดือน ลำต้นเหนือดินจะโทรมยุบในช่วงฤดูแล้ง และลำต้นใต้ดินเข้าสู่ระยะฟักตัวพร้อมเก็บเกี่ยว ประมาณเดือนธันวาคมเป็นต้นไป อายุปลูกที่พร้อมเก็บเกี่ยวตามฤดูประมาณ 7-9 เดือน ดังนั้นหากปลูกช้าเกินไป นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงดุแลรักษาแล้ว พืชจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ผลผลิตที่ได้จะต่ำกว่าขมิ้นที่ปลูกได้ตามฤดูกาลปกติ
► วิธีปลูก
- กำหนดระยะการปลูก ในสภาพพื้นที่ราบใช้ระยะระหว่างแถว 30 เซนติเมตร และใช้ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร สำหรับการปลูกในสภาพยกร่องใช้ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร
- ขุดหลุมกว้างประมาณ 1 หน้าจอบ ลึกประมาร 10-15 เซนติเมตร
- ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุมในอัตรา 1 กระป๋องนม คลุกเคล้าให้เข้ากับดินก้นหลุม หรือรองพื้นด้วยปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
- นำหัวหรือเหง้าพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก แล้วกลบดินทับหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร
► การดูแลรักษา
- การคลุมแปลง หลังจากการปลูกขมิ้นชันเรียบร้อยแล้ว ควรใช้ฟางข้าว ใบหญ้าคา หรือวัสดุอย่างอื่นที่มีคุณสมบัติเหมือนกันมาคลุมแปลงปลูก เพื่อช่วยรักษาและควบคุมความชื้นในดิน ซึ่งมีผลทำให้การงอกของขมิ้นชันเร็วขึ้น
- การให้น้ำ หลังการปลูกขมิ้นชันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรรดน้ำให้ชุ่มเพื่อปรับสภาพโครงสร้างของดินให้เหมาะต่อการงอกและหลังจากนี้ควรให้น้ำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ หรือให้น้ำเมื่อเห็นว่าดินแห้ง เพื่อรักษาความชื้นในดินให้มีอยู่เสมอ
- เมื่อขมิ้นชันอายุประมาณ 6-7 เดือน จะเริ่มทิ้งใบ ระยะนี้อาจจะลดการให้น้ำและหยุดการให้น้ำ เพราะเป็นช่วงที่ขมิ้นชันพักตัวหยุดการเจริญเติบโต
- การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15-15-15 และ 13-13-21 แบ่งใส่เป็น 2 ระยะคือ ใส่ครั้งแรกเมื่อขมิ้นชันอยู่ในช่วง 1 1/2 - 2 เดือน ซึ่งเป็นระยะขมิ้นชันเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและแตกใบ ในอัตรา 1/2 ช้อนแกงต่อต้น
ส่วนการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อขมิ้นชันอายุอยู่ในช่วง 3-4 1/2 เดือน ซึ่งเป็นระยะขมิ้นชันเจริญเติบโตทางด้านการแตกเหง้าและหัว ในอัตรา 1 ช้อนแกงต่อต้น
การใส่ปุ๋ย ใส่ห่างจากโคนต้นประมาณ 8-15 เซนติเมตร โดยการขุดหลุมฝังหรือหว่านระหว่างแถว แล้วพรวนดินกลบ หลังจากใส่ปุ๋ยทุกครั้งต้องให้น้ำทันที
► การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
โรคและแมลงที่ทำความเสียหายให้กับขมิ้นชันมีดังนี้คือ
- เพลี้ยหอย ลักษณะตัวเล็กมากเท่ากับไรสีน้ำตาลแดง จะวางไข่ไว้ที่ผิวเปลือกของเหง้าขมิ้นชันเป็นสะเก็ดสีขาว โดยการทำความเสียหาย จะพบในระยะการเก็บเกี่ยว และการดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้เหง้าเหี่ยวแห้ง
- สำหรับการกำจัด หลังจากการเก็บเกี่ยวขมิ้นชันหรือก่อนที่จะนำเหง้าพันธุ์ไปปลูกต้องแช่ด้วยสารเคมีที่ชื่อ "มาลาไธออน" หรือ "คลอไพรีฟอส" นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง อัตราการใช้เป็นไปตามฉลากข้างขวด
- หนอนกินใบ หนอนชนิดนี้จะกัดกินผิวหนังใต้ใบและทำให้ใบเป็นรูพรุน ซึ่งจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโต การป้องกันกำจัดให้ใช้สารเคมีฉีดพ่นทุก 7-15 วัน หรือเมื่อพบว่ามีการระบาด สารเคมีที่ได้ผลดี เช่น มาลาไธออน เป็นต้น
► การเก็บเกี่ยว
ขมิ้นชัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 5 เดือนขึ้นไป แต่โดยทั่วไปขมิ้นชันที่ปลูกตามฤดูกาลควรเก็บเกี่ยวในช่วงอายุ 7-9 เดือน เพราะเหง้าที่ได้มีความสมบูรณ์เต็มที่
สำหรับวิธีการเก็บเกี่ยว
ใช้จอบขุด ถ้าดินแข็งควรใช้น้ำรดแปลงให้ชุ่มก่อน แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ดินแห้งหมาด ๆ จึงทำการขุด ส่วนใหญ่จะมีดินติดกับเหง้าหัวขึ้นมาด้วย ดังนั้นให้การทำความสะอาดด้วยการเคาะเอาดินออก แล้วนำไปเขย่าหรือแกว่งในน้ำอีกครั้ง โดยภาชนะที่มีรูเล็ก ๆ และน้ำไหลผ่านได้สะดวกเช่น เข่ง ตะกร้า ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ทำความสะอาดได้รวดเร็วและปลอดภัย ทั้งนี้ผลผลืตที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 2.5-4.5 ตัน/ไร่
► การเก็บรักษา
กระบวนการผลิตขมิ้นชันให้ได้คุณภาพ นอกจากต้องอาศัยความละเอียดตามวิธีการและขั้นตอนข้างต้นแล้ว การเก็บรักษาอย่างถูกวิธีก็จะช่วยรักาาคุณภาพของขมิ้นได้เป็นอย่างดีด้วย จากหนังสือเรื่องชุดมาตรฐานสมุนไพรไทย เล่มที่ 2 ของสถาบันวิจัยสมุนไพร ได้แนะนำไว้ว่า การเตรียมขมิ้นชันก่อนทำให้แห้งและการทำแห้ง มี 2 รูปแบบคือ
- แบบชิ้น ให้หั่นหัวหรือแง่งเป็นชิ้นบาง ๆ วางบนถาดหรือกระด้งเกลี่ยให้บาง คลุมด้วยผ้าขาวบางเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและป้องกันการปลิวของสมุนไพร นำไปทำให้แห้งโดยการตากแดด หมั่นกลับบ่อย ๆ หรือโดยการอบที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส สำหรับ 8 ชั่วโมงแรก แล้วลดอุณหภูมิลงเป็น 40-50 องสาเซลเซียส หมั่นกลับบ่อย ๆ อบจนแห้ง โดยทั่วไปขมิ้นชันสด 5-6 กิโลกรัม จะได้ขมิ้นชันแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม
- ทั้งแง่ง วัตถุดิบเครื่องเทศในตลาดการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะวัตถุดิบจากอินเดีย นิยมซื้อขายในสภาพแห้ง โดยนำแง่งที่ทำความสะอาดดีแล้ว ต้มในน้ำเดือดนาน 1-2 ชั่วโมง หรือต้มในน้ำด่างอ่อน เช่นโซเดียมไบคาร์บอนเนต โซเดียมคาร์บอเนต ฯลฯ
ระยะเวลาที่ใช้ต้มแตกต่างตามความเหมาะสม เช่น ต้มในน้ำด่าง แคลเซียมออกไซด์ 1% นาน 3 ชั่วโมง ต้มในแคลเซียมคาร์บอเนต 2.5 % นาน 1 ชั่วโมง เป็นต้น จากนั้นจึงนำไปตากแดดจนแห้ง ประมาณ 6-8 วันหรือ โดยใช้เครื่องเป่าลมร้อน 65-70 องศาเซลเซียสจนแห้ง ทั้งนี้การทำแห้งโดยแสงแดดที่ใช้เวลานาน จะทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้มาก และสีสันของขมิ้นจะสวยน้อยกว่าขมิ้นแห้งที่ได้จากการอบ
สำหรับขมิ้นแห้งที่ได้ ควรบรรจุในภาชนะที่สะอาด ปิดให้สนิท เก็บในที่แห้งและสะอาด หากไม่ได้นำไปใช้นำออกผึ่งในที่ร่มทุก 3-4 เดือน ไม่ควรเก็บไว้นาน เพราะจาการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำมันหอมระเหยจะลดลงประมาณ 25% เมื่อเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปี
แนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สูตรและวิธีการทำสบู่สมุนไพรขมิ้นชัน จากชาววัง
♦เรียบเรียงบทความ "ขมิ้นชัน พืชน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพของไทย"
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
|