"ตะไคร์หอม"
พืชน้ำมันหอมระเหย
ที่มีศักยภาพของไทย
"ตะไคร้หอม" พืชสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมละเหยอยู่ในส่วนใบและต้น กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยมีการใช้ทำประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เพื่อแต่งกลิ่นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น สบู่ แชมพู น้ำหอม อาหาร เครื่องดื่ม และใช้ในการเกษตร ทำสารไล่แมลง หรือนำส่วนใบและเหง้าไปใช้ประโยชน์โดยตรง
สำหรับพืชตะไคร้หอมปัจจุบันมีอยู่ 2 พันธุ์ คือพันธุ์ชวา ปลูกมากในเกาะชวา จีน และบางประเทศในอเมริกาใต้ และพันธุ์ศรีลังกา ปลูกมากในประเทศศรีลังกา
พันธุ์ชวา มีช่อดอกยาวโน้มลง ซึ่งต่างจากพันธุ์ศรีลังกา ที่มีช่อดอกสั้นและตั้งตรง ทั้งมีลักษณะของตะไคร้หอมโดยทั่วไป คล้ายกับตะไคร้แดง แต่ลำต้นแข้งแรงกว่า มีลำปล้องมากกว่า สีของลำต้นเป็นสีม่วงแดง ลำต้นใบยาวและมีกลิ่นฉุนกว่าตะไคร้แกง
สำหรับประเทศไทย นิยมปลุกพันธุ์ของชวา โดยมีการปลุกมากที่อำเภอลาดหญ้า อำเภอบ่อพลอย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อำเภอสัตหีบ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนคราราชสีมา และจังหวัดเชียงใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม การปลุกเพื่อการค้ายังมีน้อย เนื่องจากน้ำมันตะไคร้หอมราคายังไม่สูงนัก ไม่คุ้มกับการลงทุน ทำให้เกิดปัญหาในการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม
สำหรับความต้องการของตะไคร้หอมในประเทศไทย จากเอกสารวิชาการพืชสมุนไพร-พืชหอมเล่ม 1 ของกรมวิชาการเกษตร ระบุว่ามีความต้องการปีละ 15 ตัน เพื่อใช้ในการผลิตยากันยุง เป็นส่วยผสมในผงซักฟอก สบู่ แชมพูสระผม และสเปรย์ แต่ผลผลิตในประเทศไทยไม่เพียงพอ จึงมีการนำเข้าจากอังกฤษและฝรั่งเศส
นอกจากจะมีการใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมแล้ว ในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรด้วย เช่น ใช้ใบสดของตะไคร้หอมที่แก่จัดผสมกับเหง้าข่าสดและใบสะเดาสดบดหรือตำให้ละเอียดในอัตรา 1:1:1 กิโลกรัม แช่ในน้ำ 1 ปี๊บ หมัก 1 คืน แล้วกรองเอาน้ำยาไปเป็นหัวเชื้อโดยใช้หัวน้ำเชื้อ 10 ช้อนแกงผสมน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดยากำจัดแมลงในพืชผัก ข้าวและผลไม้บางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน พร้อมกันนั้นก็ยังสามารถใช้ใบสดของตะไคร้หอมที่แก่จัด รวมทั้งใบแห้ง รองพื้นยุ้งฉางเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช ทำลายผลผลิตในยุ้งฉางได้อีกด้วย
ส่วนประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข ให้ใช้น้ำมันตะไคร้หอมฉีดพื้นไล่ยุง โดยเตรียมสารละลายของน้ำมันตะไคร้หอมในแอลกอฮอล์ 70% ในขนาดความเข้มข้น 7% นำมาฉีดพ่นไล่ยุง ให้เปิดประตูหน้าต่างทิ้งให้ยุงหนี จากนั้นปิดมุ้งลวดทาน้ำมันตะไคร้หอมไว้ตรงขอบประตูหน้าต่างที่ปิดเปิดบ่อย ๆ เพื่อกันไม่ให้ยุงบินเข้ามาเวลาเปิดปิดหน้าต่างหรือประตู ซึ่งน้ำมันตะไคร้หอมสามารถพ่นแทนยาฉีดพ่นกำจัดยุงได้ทั้งหมด และยังทำให้ห้องหอมอีกด้วย
ถ้าไม่มีเครื่องกลั่น ใช้ตะไคร้หอมมัดแล้วทุบ ๆ วางไว้ ตามมุมห้องใต้เตียงผู้ป่วย และนำตะไคร้หอมไปตำแช่แอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:1 คั้นเอาน้ำทาตรงของประตูที่ปิดเปิด หรือชุบสำลีแขวนไว้หน้าประตูเข้าออกก็ได้
นอกจากนี้ กลิ่นของตะไคร้หอมยังช่วยดับกลิ่นคาว กลิ่นห้องน้ำ และกลิ่นไม่พึงประสงค์อื่นได้ดี รวมทั้งยังรักษาโรคหมัดสุนัขได้อีกด้วย จะเห็นว่าตะไคร้หอมมีสรรพคุณที่หลากหลายจริง ๆ
► วิธีการปลูก
การปลูกต้นตะไคร้หอม ให้เตรียมต้นพันธุ์ โดยตัดแต่งให้มีข้อจำนวน 2-3 ข้อ เหลือกาบใบหุ้มยอดที่มี 4-5 ใบ และตัดปลายใบออกใช้ต้นพันธุ์ 3 ต้น ต่อหลุม ระยะปลูกที่เหมาะสม 1-1.25 เมตร ระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูกคือเดือนพฤษภาคม และมีฝนตกบ้าง แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงควรรดน้ำเป็นครั้งคราวเพื่อให้แตกกอได้เร็วขึ้น
สำหรับพื้นที่ในการปลูก ตะไคร้หอมนั้น เนื่องจากตะไคร้หอมทนต่อความแห้งแล้ง ทำให้สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิดทั้งบนพื้นราบและราบเชิงเขา แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย และกลางแจ้งที่มีแสงแดดจัดมาก นอกจากจะช่วยให้ตะไคร้หอมเจริญเติบโตเร็วแล้ว ยังมีผลต่อปริมาณน้ำมันด้วย
จากการศึกษาทดลองของกองพฤกษศาสตร์และวัชพืช ซึ่งได้ทดลองที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่าเมื่อปลูกตะไคร้หอมต้นฤดูฝน โดยอาศัยน้ำฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน-ตุลาคม คือมีอายุ 5-6 เดือน
โดยมีการแตกกอสูงสุดเฉลี่ย 22 ต้น ต่อพันธุ์ 1 ต้น และมีความสูงเฉลี่ย 1.26 เซนติเมตร เมื่อเริ่มหมดฝนในเดือนพฤศจิกายนใบเริ่มแห้งแล้วเริ่มออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม
เมื่อดอกบานเต็มที่ ความยาวของต้นวัดจากโคนถึงปลายช่อดอกยาวประมาณ 2-5 เมตร หลังจากนั้นใบเริ่มเฉา แล้วแตกหน่อใหม่เมื่อเริ่มฤดุฝน ถ้าปลูกในที่มีการรดน้ำใส่ปุ๋ย บำรุงรักษาดี มีการตัดต้นที่แก่ออกบ้าง จะมีการแตกหน่อเจริญของลำต้นได้ตลอดปี
......................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
......................................................................................
► การดูแลรักษา
ถ้าปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ คือ มีเปอร์เซนต์อินทรีย์วัตถุประมาณ 2.5-3 ไม่จำเป้นต้องใส่ปุ๋ยในระยะแรก แต่ถ้าปลูกเพื่อจะเก็บเกี่ยวใบหลาย ๆ ครั้ง การใส่ปุ๋ยช่วย เช่น ปุ๋ยผสมสูตร 16-16-8, 16-20-0, 15-15-15 อัตราการใช้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบุรณ์ของดิน
หลังจากตัดใบแล้วควรหว่านปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนียซัลเฟต อัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ จะช่วยให้แตกใบใหม่ได้เร็วขึ้น ได้ใบที่มีขนาดใหญ่สมบูรณ์และมีปริมารน้ำมันหอมระเหยเพิ่มขึ้น
แต่ไม่ต้องกลัวเรื่องของโรคและแมลง เพราะว่าจากการทดลองของกองพฤกษศาสตร์และศัตรูพืช ระหว่างปี 2529-2532 ไม่พบโรคและแมลงที่เป็นศัตรูทำให้ผลผลิตลดลงแต่อย่างไร
► จะเก็บเกี่ยวอย่างไร
การเก็บเกี่ยวตะไคร้หอม ให้ตัดเอาส่วนใบ ซึ่งอยู่เหนือพื้นดิน 25-30 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นที่เหลือแตกใบใหม่ได้เร็วขึ้น การเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งควรห่างกัน 3 เดือนเต็ม ผึ่งใบที่ตัดมาได้ 1-2 วัน ก่อนนำมาสกัดน้ำมันถ้าไม่ตัดใบไปสกัดน้ำมันและปล่อยให้ตะไคร้หอมอายุถึง 7 เดือน ใบจะเริ่มแห้งมีอัตราส่วนโดยน้ำหนักของใบสดต่อใบแห้ง 4:1 ให้ผลผลิตใบรวมทั้งสดและแห้งประมาณ 550 กิโลกรัมต่อไร่ มีน้ำหนักสดรวมทั้งต้นและใบ 1,450 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อนำใบสดมาสกัดน้ำมันหอมระเหย โดยวิธีกลั่นด้วยไอน้ำเป็นเวลา 30 นาที หลังจากน้ำเดือดแล้ว แยกน้ำมันออกจากน้ำจะได้น้ำมันตะไคร้หอมดิบ 1.42%
► แหล่งตลาดรับซื้อ
การที่ตะไคร้หอมมีสรรพคุณที่หลากหลายนี้เอง ทำให้เป็นที่ต้องการทั้งจากตลาดภายในและนอกประเทศ
จากคู่มือแนะนำพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ ที่มีศักยภาพในการส่งออก ของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ระบุแหล่งและผู้รับซื้อในประเทศมีดังนี้ คือ
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามปาร์ค 157/3 ซอยมหาดเล็กหลวง 2 ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ
- ร้านตงฮั่วจั่น 139 ถนนจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
- ร้านเอ้งกิงกี่ 210/2-3 ถนนจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด เวชพงศ์โอสถ 145-149 สี่แยกวัดตึก ถนนจักรวรรดิ์ กรุงเทพฯ
ส่วนตลาดต่างประเทศ ตลาดที่สำคัญคือ ตลาดสาธารณรัฐเยอรมันแต่ยังไม่มีการรวบรวมตัวเลขที่แน่นอน
นอกจากนี้ยังมีตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความต้องการประมาณปีละ 682 ต้น โดยนำเข้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน อาร์เจนตินา ไต้หวัน และอินโดนีเซีย
ส่วนตลาดในเอเซีย คือ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ตะไคร้หอมนับเป็นพืชชนิดที่ยังไม่มีบทบาททางการค้า
สำหรับรูปแบบของสินค้าที่ตลาดต้องการ ในตลาดสาธารณรัฐเยอรมัน การนำเข้าตะไคร้หอมของประเทศสาธารณรัฐเยอรมันมี 2 ลักษณะ คือ ตะไคร้หอมแห้ง และน้ำมันตะไคร้หอม โดยตะไคร้หอมแห้งจะนำเข้าจากประเทศเม็กซิโก อินเดีย และอินโดนีเซีย และอัดเป็นก้อน น้ำหนักประมาณก้อนละ 180 กิโลกรัม
ส่วนน้ำมันตะไคร้หอมนำเข้าจากประเทศอินเดีย ศรีลังกา และอินโดนีเซีย โดยบรรจุในถังโลหะขนาดบรรจุประมาณ 200 ลิตร
ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา อยุ่ในรูปของน้ำมันตะไคร้หอม โดยบรรจุในถังโลหะบรรจุประมาณถังละ 200 ลิตร
► แนวโน้มการแข่งขันและราคา
ตลาดสาธารณรัฐเยอรมัน ตะไคร้หอมแห้งและน้ำมันตะไคร้หอมส่วนใหญ่จะนำเข้าจากแหล่งใหญ่ ๆ เพียง 2 ประเทศ คือ อินเดีย และอินโดนีเซียเท่านั้น ซึ่งมีคุณภาพดีเชื่อถือได้ การแข่งขันด้านการค้าจึงไม่ค่อยมี แต่อย่างไรก็ตามราคามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผลผลิตมากเกินกว่าความต้องการของตลาด
ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เป็นผู้ส่งออกน้ำมันตะไคร้หอมรายใหญ่ ให้แก่ตลาดสหรัฐอเมริกา คือ ประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำเข้าทั้งหมด ราคาของน้ำมันตะไคร้หอมจะขึ้นอยู่กับผลผลิตของตลาดโลก
► กลยุทธ์การเจาะตลาด
สำหรับผู้ส่งออกที่ต้องการเจาะตลาดสาธารณรัฐเยอรมันจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้า ตามมาตรฐานที่กำหนด และจะต้องมีความสม่ำเสมอทั้งคุณภาพสินค้า และการส่งมอบที่ตรงต่อเวลาจะสร้างความเชื่อถือให้แก่ผู้นำเข้า นอกเหนือจากราคาที่อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกรายอื่น
ที่ตลาดสหรัฐอเมริกา ก็เช่นเดียวกัน เรื่องคุณภาพ ผู้นำเข้าจะคำนึงถึงเรื่องนี้มาก โดยน้ำมันตะไคร้หอมที่จะนำเข้าต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน พร้อมกันนั้นคุณภาพของสินค้าจะต้องได้มาตรฐานสม่ำเสมอ และมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้ผู้นำเข้าเกิดความไว้วางใจและให้ความเชื่อถือ
♦เรียบเรียงบทความ "ตะไคร์หอม พืชน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพของไทย"
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
|