ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจ
แฟรนไชส์ (Franchise)
สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เพิ่งเริ่มต้น
ปัจจุบันนี้มีบุคคลเป็นจำนวนมาก ทั้งบุคคลทั่วไปหรือที่ทำงานเป็นพนักงาน ลูกจ้างบริษัท รับราชการรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว รวมไปถึงผู้ที่ได้ลาออกหรือเกษียณอายุออกมา โดยมีความใฝ่ฝันและตั้งใจอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ เพื่อสร้างฐานะและความมั่นคงของครอบครัว แต่ปัญหาสำคัญก็คือการเลือกว่าจะทำธุรกิจประเภทใดจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ เนื่องจากแต่ละรายอาจจะไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนหรือบางรายอาจมีอุปสรรคทางด้านเงินลงทุน ดังนั้นธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) จึงกลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจในระดับต้นๆ เพราะถือเป็นช่องทางธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง เพราะเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ (Franchise) หรือบริษัทแม่โดยส่วนใหญ่นั้น จะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของตลาดอยู่แล้ว ผู้ที่ซื้อสิทธิรายใหม่จึงไม่ต้องสร้างชื่อเสียงเอง ทำให้ช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านส่งเสริมการตลาดลงไปได้มาก
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
นอกจากนี้ผู้ซื้อสิทธิยังได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารงานและความช่วยเหลือบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดจากเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) อีกด้วย ประการที่สำคัญธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ใช้เงินลงทุนในการเริ่มต้นกิจการไม่มากนัก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินทุนจำกัด สามารถประกอบธุรกิจแบบขนาดกลางขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีได้ อย่างไรก็ตามหนทางดำเนินธุรกิจในแต่ละก้าว มิใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะยังคงมีผู้ประกอบการในรูปแบบแฟรนไชส์ (Franchise) เป็นจำนวนมาก ที่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องออกจากตลาดไป เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นขาดประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจนี้ ก็ควรจะต้องศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งเสียก่อน เพื่อที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในตลาดและประสบความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ได้อย่างที่ตั้งใจไว้
นิยามของธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) นั้นพอจะสรุปได้ว่าเป็นกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดวิธีหนึ่ง โดยบริษัทแม่หรือผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) ให้สิทธิแก่ตัวแทนรายย่อย (Franchisee) ในการประกอบธุรกิจในลักษณะเหมือนหรือตามขอบเขตที่บริษัทแม่กำหนดไว้ ซึ่งสิทธินี้อาจอยู่ในรูปของการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า สิทธิในการใช้ชื่อสินค้าหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัทแม่ หรือสิทธิที่จะนำเทคนิคในการผลิต การตลาด หรือวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่มาใชัในกิจการของตน ซึ่งโดยมากแล้วสัญญาแฟรนไชส์ (Franchise) มักจะรวมสิทธิต่างๆ ดังกล่าวไว้ด้วยกัน
ทั้งนี้บริษัทผู้ขายแฟรนไชส์ (Franchise) จะมีการช่วยเหลือด้านต่างๆ อาทิ การเลือกทำเลที่ตั้ง การตกแต่งร้านค้า สถานที่ การจัดส่งวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆ การฝึกอบรมวิธีการปฏิบัติงาน ตลอดจนการช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินธุรกิจให้ลุล่วงไป โดยสิ่งที่บริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) จะได้รับก็คือ ค่าธรรมเนียมเริ่มต้นหรือแรกเข้า (Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมการจัดการประจำงวดที่เก็บตามยอดขาย ซึ่งอาจเก็บเป็นรายเดือน รายไตรมาสหรือรายปี หรือที่เรียกว่า ค่ารอยัลตี้ (Royalty Fee) รวมถึงค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์และค่าฝึกอบรมต่างๆ
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล มหาวิทยาลัยศรีปทุม พบว่า ในปี 2549 มีผู้ขายแฟรนไชน์ (Franchisor) ในประเทศไทยประมาณ 456 กิจการ เป็นของคนไทย 375 กิจการและต่างประเทศ 81 กิจการ โดยกิจการประเภทอาหารมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 31.4 ของประเภทกิจการที่ขายแฟรนไชส์ รองลงมาได้แก่ เครื่องดื่มร้อยละ 15.6 และบริการร้อยละ 11.8
► สำหรับข้อดีของการทำธุรกิจในรูปแบบ
แฟรนไชส์ (Franchise) สรุปได้ดังต่อไปนี้
- ธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ให้โอกาสกับผู้ที่มีเงินลงทุนไม่มาก ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ตามกำลังเงินทุนที่มี ซึ่งมีทั้งที่เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนน้อยกว่า 1 แสนบาท ไปจนถึงแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านบาท ดังนั้นผู้ที่มีเงินทุนน้อยก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจแบบเอสเอ็มอีได้ และยังช่วยประกันความเสี่ยงต่อความล้มเหลวของธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง
- ลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ โดยปกติเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) ต่างๆ มักจะเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนตราสินค้ารวมทั้งสินค้าหรือบริการเป็นที่ยอมรับของตลาด ดังนั้นช่องทางตลาดสำหรับผู้ที่เข้ามาซื้อสิทธิแฟรนไชส์ (Franchise) จึงใช้เวลาไม่นานก็สามารถขยายและเติบโตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เนื่องจากบริษัทแม่ที่จำหน่ายแฟรนไชส์ (Franchise) ช่วยลดระยะเวลาในการทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักของลูกค้าอยู่แล้ว
- การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยปกติผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ด้วยตนเอง มักจะขาดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจ ฉะนั้นจึงต้องมีการลองผิดลองถูกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งกว่าธุรกิจจะเข้าที่เข้าทาง แต่สำหรับระบบแฟรนไชส์ (Franchise) นั้น ด้วยประสบการณ์ของบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) ที่มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือบริการ รวมทั้งเทคนิคทางด้านการผลิตและการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถนำมาถ่ายทอดให้กับธุรกิจที่ซื้อแฟรนไชส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดระยะเวลาที่ต้องเรียนรู้ธุรกิจให้สั้นลง ในขณะเดียวกันยังสามารถให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) ได้ถูกต้องและได้ผลเป็นอย่างดี ดังนั้นรูปแบบแฟรนไชส์ (Franchise) ดังกล่าว จึงเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่เริ่มต้นกิจการ ซึ่งไม่มีความรู้ความชำนาญทางด้านธุรกิจหรือตัวสินค้าและบริการมากนัก
- ต้นทุนการผลิตต่ำ ธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ที่มีสมาชิกในเครือข่ายที่มากจะทำให้ปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบ ตลอดจนอุปกรณ์การผลิตต่างๆ มีสูง ซึ่งได้ราคาที่ต่ำกว่าการสั่งซื้อสินค้าทีละน้อย และเป็นปัจจัยทำให้ธุรกิจมีต้นทุนต่ำลงและมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น
- ต้นทุนด้านการตลาดต่ำ ถึงแม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) จะมีต้นทุนดำเนินการต่างๆ ซึ่งบริษัทแม่เป็นผู้เรียกเก็บ อาทิ ค่าธรรมเนียมเริ่มต้นหรือแรกเข้า (Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมการจัดการประจำงวดที่เก็บตามยอดขาย ซึ่งอาจเก็บเป็นรายเดือน รายไตรมาสหรือรายปี หรือที่เรียกว่า รวมถึงค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ และค่าฝึกอบรมต่างๆ แต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าว บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) จะนำไปใช้วิจัยและพัฒนาสินค้า ตลอดจนใช้เพื่อส่งเสริมการตลาด ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการทั่วไปงบประมาณการตลาดที่มีจำกัด ย่อมไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อหลักต่างๆ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แต่หากรวมรายได้จากธุรกิจแฟรนไชน์ที่เป็นสมาชิกเข้าด้วยกัน บริษัทแม่จะสามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
► การพิจารณาปัจจัยต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ
แฟรนส์ไชส์ (Franchise)
เมื่อได้ทราบถึงข้อดีของการดำเนิธุนกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ (Franchise) แล้ว สิ่งที่จะกล่าวถึงในลำดับถัดไปก็คือ การเริ่มต้นธุรกิจซึ่งจะต้องมีการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนส์ไชส์(Franchise) มาทำธุรกิจ เพื่อที่ธุรกิจจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยมีหลักการสำคัญสรุปได้ ดังนี้
- การพิจารณาคัดเลือกประเภทธุรกิจ ปัจจุบันมีธุรกิจเป็นจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ (Franchise) ทั้งในส่วนของร้านอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ สปา สุขภาพ ความงาม การศึกษา ไอที ร้านสะดวกซื้อ หนังสือ/วีดิโอ คาร์แคร์ เป็นต้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะเลือกเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ในรูปแบบประเภทใด ซึ่งอาจเลือกประเภทธุรกิจตามความชอบหรือเลือกตามประสบการการณ์และความเชี่ยวชาญที่ผู้ประกอบการธุรกิจมีอยู่เดิม
- การพิจารณาเงินทุนดำเนินการ ในบางครั้งผู้ประกอบการอาจชอบรูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ประเภทหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือต้องใช้ทุนดำเนินการที่สูงเกินกว่างบประมาณที่เตรียมไว้ ซึ่งหากว่าผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นที่จะทำ ก็ต้องใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ทำให้เพียงเริ่มต้นธุรกิจก็ต้องมีภาระหนี้สินจำนวนมากเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังต้องมีภาระในการจ่ายค่าซื้อสิทธิแฟรนไชส์ (Franchise) ตลอดจนค่าดำเนินการต่างๆ จนอาจทำให้เกิดความท้อถอยได้ ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ควรเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาแฟรนไชส์ (Franchise) ที่ใช้ทุนดำเนินการที่เหมาะสม สอดคล้องกับงบประมาณที่มี เพื่อให้กิจการดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
- การพิจารณาชื่อเสียงของบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) บริษัทที่มีชื่อเสียงทั้งทางด้านความน่าเชื่อถือ รวมทั้งการมีส่วนแบ่งในตลาดที่สูง ย่อมมีประสบการณ์ทางด้านการทำธุรกิจและมีการลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง รวมทั้งมีระบบจัดการด้านการบริหารการผลิต การตลาดที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันการมีชื่อเสียงที่ดีย่อมก่อให้เกิดความนิยมชมชอบของลูกค้า ดังนั้นโอกาสที่ธุรกิจที่เข้าไปซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) จะประสบความสำเร็จย่อมมีเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับแฟรนไชส์ (Franchise) ต่างๆ สามารถหาได้จากหลายๆ แหล่ง เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ เช่น จากหนังสือพิมพ์ นิตยการ โทรทัศน์ หรือตัวบริษัทที่ทำแฟรนไชส์ (Franchise) เองและหากต้องการลงลึกในรายละเอียด อาจสอบถามจากผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์(Franchise) ไปประกอบการรายก่อนๆ ว่า ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด
- การพิจารณาเงื่อนไขในการซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) บริษัทแม่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ มักจะมีการกำหนดค่าลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ค่าธรรมเนียม ค่าฝึกอบรมพนักงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการส่งเสริมการตลาดต่างๆ ในขณะเดียวกัน บางธุรกิจอาจมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งวัตถุดิบต่างๆ จากบริษัทแม่เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่จะประกอบธุรกิจจึงควรศึกษาถึงเงื่อนไข สัญญาต่างๆ ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนแฟรนไชส์ (Franchise) นั้นๆ
- การพิจารณาถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อดำเนินธุรกิจไปสักระยะหนึ่ง สินค้าหรือบริการอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งอาจเกิดจากสภาพเศรษฐกิจ รายได้ รสนิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณี ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้รูปแบบตลอดจนคุณภาพสินค้าหรือบริการ สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทแม่ผู้จำหน่ายแฟรนไชส์ (Franchise) ที่ดี ต้องปฏิบัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
- การพิจารณาด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยปกติเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchise) จะเก็บค่าธรรมเนียมดำเนินการต่างๆ รวมทั้งค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะให้กับผู้ซื้อแฟรนไชน์ (Franchise) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาถึงนโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการตลาดของบริษัทที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ไปสู่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) ว่ามีมากน้อยเพียงใด
► ความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ
แฟรนไชส์ (Franchise)
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจในรูปแบบการซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) มาเปิดดำเนินการธุรกิจ จะมีศักยภาพและโอกาสในการประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับการเปิดดำเนินธุรกิจโดยลำพังตนเอง แต่เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือสมการทางคณิตศาสตร์ที่เป็นเครื่องการันตีว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) มาเริ่มต้นทำธุรกิจแล้ว จะต้องประสบความสำเร็จทุกรายเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมหลายประการที่เป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ ที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ๆ ไม่ควรมองข้าม ซึ่งมีรายละเอียดพอสรุปได้ ดังนี้
- ต้องเป็นธุรกิจที่ถนัดหรือชอบ การเลือกทำธุรกิจตามความชอบหรือสนใจและมีความถนัดหรือเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นอยู่บ้าง จะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่เกิดความท้อถอยแม้จะพบอุปสรรค ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะเรียนรู้หาทางแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ นอกจากนี้การทำธุรกิจที่ถนัดหรือชอบจะทำให้สามารถเรียนรู้หลักการบริหารจัดการต่างๆ จากบริษัทแม่ผู้ขายแฟรนไชส์ (Franchise) ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีความถนัดอยู่เดิม เช่น หากเดิมเคยประกอบธุรกิจร้านอาหารเล็กๆ มาก่อน การซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) ที่มีชื่อเสียงมาเปิดดำเนินการก็จะทำได้ง่าย เนื่องจากมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่พอสมควรแล้ว
- ทำเลที่ตั้งมีความเหมาะสม แม้ว่าสินค้าหรือบริการจะมีความโดดเด่นหรือมีความน่าสนใจและเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ แต่หากเลือกทำเลที่จะเปิดดำเนินการไม่เหมาะสม เช่น สถานที่ที่มีลูกค้าสัญจรไปมาน้อยหรือสถานที่ซึ่งลูกค้าเดินทางมาไม่สะดวก ประการสำคัญพื้นที่นั้นมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายหรือใกล้เคียงกัน เปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือการแข่งขันที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจในท้ายที่สุด ดังนั้นการเลือกทำเลที่เหมาะสม จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือการเติบโตของธุรกิจ โดยในเบื้องต้นผู้ประกอบการควรใช้เวลาเสาะแสวงหาทำเลที่จะเปิดดำเนินการโดยไม่รีบร้อนและต้องพิจารณาทำเลหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะทำเลที่สอดคล้องกับสินค้าหรือบริการที่จะจำหน่าย เช่น ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารสำนักงาน สถานีรถไฟฟ้า หมู่บ้านจัดสรร หรือตั้งอยู่ในศูนย์การค้า เป็นต้น ทั้งนี้หากจำเป็นก็อาจต้องมีการศึกษา ทำวิจัย พฤติกรรมผู้ซื้ออย่างละเอียดประกอบการเลือกทำเล
- เจ้าของต้องมีเวลาบริหารกิจการเอง มีหลายกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีศักยภาพทางด้านเงินทุนดำเนินการ แต่มีข้อเสียคือไม่มีเวลาที่จะบริหารเองและเมื่อลงทุนซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) ไปแล้วก็มักจ้างคนมาทำหรือให้ญาติพี่น้องมาดูแล ซึ่งอาจส่งผลทำให้กิจการดำเนินไปได้ด้วยความไม่ราบรื่น เนื่องจากความเอาใจใส่ต่อการดูแลจัดการธุรกิจจะมีน้อยกว่ากรณีที่เจ้าของลงมือทำเอง เนื่องจากการขาดจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของกิจการนั่นเอง ในขณะเดียวกันการให้ผู้อื่นเข้ามาบริหารกิจการแทนนั้นอาจประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่รั่วไหลออกไป จนส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจก็เป็นได้
- มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการหากไม่มีความจริงจังในการทำธุรกิจ การที่จะประสบความสำเร็จก็ค่อนข้างลำบาก เพราะหากเจอปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ก็จะรู้สึกท้อถอย ซึ่งต่างจากผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นและจริงจังในการประกอบธุรกิจ ที่จะทุ่มเทให้กับการบริหารและจัดการองค์กรให้สามารถฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปได้ รวมทั้งยังมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ พัฒนาและเข้ารับการฝึกอบรมทางด้านการผลิต การตลาด รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ ตามที่บริษัทแม่เจ้าของแฟรนไชส์จัดให้
กล่าวโดยสรุปแล้ว การดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ (Franchise) กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกธุรกิจ ผู้ประกอบการรายใหม่เป็นจำนวนมาก ต่างสนใจเข้าสู่วงจรธุรกิจด้วยวิธีการนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี เนื่องจากการเข้าสู่ธุรกิจนั้นทำได้ค่อนข้างง่ายเพราะบริษัทผู้ขายแฟรนไชส์ (Franchise) นั้น ได้มีการวางระบบต่างๆ โดยเฉพาะการบุกเบิกตลาดไว้พอสมควรแล้ว ในขณะเดียวกันยังมีธุรกิจที่ดำเนินการในรูปแบบแฟรนไชส์ (Franchise) ให้เลือกหลากหลายประเภท ประการสำคัญคือสามารถใช้เงินทุนดำเนินการที่ไม่สูงมากนักก็เป็นเจ้าของกิจการได้
อย่างไรก็ตามธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) ก็เหมือนกับธุรกิจทั่วๆ ไป ที่ย่อมมีความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาทำธุรกิจแข่งขัน ความเสี่ยงจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด เนื่องจากการไม่เคยทำธุรกิจ ดังนั้นหนทางสู่ความสำเร็จของแฟรนไชส์ (Franchise) จึงย่อมมีอุปสรรค ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนรายใหม่ คงต้องมีการทำการบ้านมาเป็นอย่างดีคือ ต้องศึกษาตัวผลิตภัณฑ์ ช่องทางการตลาด คู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้บริโภค และผู้ที่มีประสบการณ์หรือผู้ที่อยู่ในธุรกิจอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ความเสี่ยงทางธุรกิจลดน้อยลงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เรียบเรียงบทความ
"ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจแฟรนไชส์ สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มต้น"
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
|