บทความ สาระน่ารู้
สปา นวดแผนไทย โยคะ
ความงาม สุขภาพ
โยคะเก้าอี้
วิธีป้องกันและ
บรรเทาอาการของ
โรคออฟฟิศซินโดรม
Office Syndrome
|
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.............................................................................
|
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมโยคะเก้าอี้ เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เทคนิคดีๆ สำหรับทุกเพศ ทุกวัย ในการดูแลร่างกายให้มีสุขภาวะที่ดี ณ โซนกิจกรรมชั้น 5 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์
ครูพัน-วีระพันธ์ ไกรวิทย์ ครูโยคะ กล่าวว่า โยคะเก้าอี้เป็นการประยุกต์ท่าโยคะ ก้ม แอ่น บิด เอียง มาใช้กับเก้าอี้ เป็นโยคะในสำนักงานที่เหมาะสำหรับคนที่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือนั่งทำงานเป็นเวลานานแล้วเกิดอาการเมื่อย กดทับ เพื่อให้ท่าโยคะเหล่านี้ช่วยปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ให้บริหารยืดเหยียด จนคืนความสมดุลให้กับร่างกาย โดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อย และเพื่อให้ผู้ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ได้ดูแลร่างกายและจิตใจตนเอง เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากความเหนื่อยล้าและเครียด เมื่อต้องทำงานอยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน
โดยท่าโยคะสำหรับผู้ทำงานในสำนักงาน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มท่าที่บริหารคอ ไหล่ สะบัก ทรวงอก แขน
2. กลุ่มท่า บริหารนิ้วมือ ข้อมือ แขน
3. กลุ่มท่าที่บริหาร หลัง ลำตัว กระดูกสันหลัง
4. กลุ่มท่าบริหาร สะโพก ขา เข่า และ
5. กลุ่มท่าที่บริหาร ดวงตา
ซึ่งโยคะทั้ง 5 กลุ่มนี้ หากทำครบสามารถบริหารเหยียดยืดร่างกายได้ครบทุกส่วน โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือผู้ใช้อาจเลือกบางท่าไปทำในขณะที่นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ก็ได้ โดยตลอดระยะเวลาทำงานให้หยุดพักทุกๆ 1-2 ชั่วโมง แล้วเลือกทำท่าบริหารเหล่านี้สัก 2-3 นาที ตามแต่ละท่าที่เลือกใช้
1. กลุ่มท่าบริหารคอ ไหล่ สะบัก ทรวงอก แขน
• ยืดด้านข้างลำคอ นั่งลำตัวตรง หายใจเข้า แหงนศีรษะไปทางขวาจนลำคอด้านซ้ายตึง หายใจออก คลายกลับมาตรงกลาง จากนั้นสลับข้างไปทางซ้าย ทำจนครบ 5 รอบ
• หมุนไหล่ วางมือบนไหล่แต่ละข้างให้ศอกชิดกัน หายใจเข้ายกศอกขึ้นทางด้านหน้า หายใจออกลดศอกลงไปด้านหลัง หมุนครบ 5 รอบ แล้วหมุนทวนกลับ
|
.............................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.............................................................................
|
2. กลุ่มท่าที่บริหารนิ้วมือ ข้อมือ แขน
• หมุนข้อมือ ประสานนิ้วมือ แล้วหมุนมือให้เป็นก้อนวงกลมครบ 10 รอบ
• บิดมือแล้วผลักฝ่ามือออกไปข้าง หน้าจนสุดแขน แล้วยกขึ้นเหนือศีรษะค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• ดึงมือลงไปทางซ้ายจนแขนและ ไหล่ขวาตึงสุด ค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• ปล่อยมือแล้ว เหยียดแขนซ้ายออกไปด้านข้าง หันฝ่ามือไปข้างหลัง แล้วพับแขนเอาหลังมือมาแตะที่แผ่นหลัง ค่อยๆ ไต่ขึ้นไปหามือขวา ถ้ามือถึงกันก็เกี่ยวกันไว้ ค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• คลายแขนซ้าย เหยียดออกไปทางขวา ที่ด้านหน้าของลำตัว แล้วเอาแขนขวามาล็อกที่ต้นแขนซ้าย เอาตัวช่วยดันไว้จนไหล่ซ้ายตึง แล้วหันหน้าไปทางซ้าย ค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• เอาแขนซ้ายมาพันแขนขวา ประกบฝ่ามือ ยืดไหล่และสะบัก ค้างไว้ 5 ลมหายใจ (สลับอีกข้างหนึ่งโดยเริ่มจากสลับร่องนิ้ว แล้วประสานมือหมุนทวนกลับ)
3. กลุ่มท่าที่บริหารหลัง ลำตัว กระดูกสันหลัง
• นั่งก้มและแอ่นตัว หายใจออกพร้อมหดหน้าท้อง โก่งหลัง เหยียดแขน เก็บคางชิดคอ
• หายใจเข้าพร้อมกับดึงมือกลับมา งอศอกไปด้านหลังและอกยืดคาง ทำ 5 รอบ
• นั่งยกขาขึ้นมาข้างหนึ่ง โดยวางข้อเท้าไว้เหนือเข่าอีกข้างหนึ่ง จากนั้นประสานมือด้านหลัง แล้วหายใจออก ก้มตัวลงพร้อมยกแขนขึ้นด้านบน ค้าง 5 ลมหายใจ แล้วสลับข้าง
• จากท่านั่งหลังตรง ให้เอนหลังแล้ววางทั้งสองมือที่เก้าอี้ด้านหลังข้างๆ สะโพกพร้อมเหยียดขาข้างหนึ่งออกมา โดยที่เท้าทั้งสองข้างวางอย่างมั่นคงบนพื้น หายใจเข้าพร้อมกดมือบนเก้าอี้ ยกสะโพกขึ้น แอ่นอกค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• นั่งบิด เริ่มจากท่านั่งหลังตรงให้หายใจเข้า ยืดตัวขึ้น เมื่อเริ่มหายใจออกให้บิดตัวไปทางขวา มือขวาจับพนักพิง ส่วนมือซ้ายจับที่เข่าแล้วออกแรงบิด ค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• ทำซ้ำข้างเดิม แต่เพิ่มการยกขาขวาขึ้นมา แล้วเหยียดให้ตรงก่อนบิด ค้างไว้ 5 ลมหายใจ แล้วสลับข้าง
• ตะแคงข้าง นั่งแยกขากว้างเล็กน้อย วางแขนซ้ายเท้าไว้ที่ขาซ้าย จากนั้นหายใจเข้าวาดแขนขวาขึ้นไป ยืดจนสุด รู้สึกตึงที่สีข้าง พร้อมแหงนมองที่ฝ่ามือ ค้างไว้ 5 ลมหายใจ สลับข้าง
• บริหารหน้าท้องและต้นขา ค้างท่าละ 5 ลมหายใจ นั่งเอนหลังเล็กน้อย ยกเท้าลอยขึ้นเอามือไว้ที่ท้อง ท่าที่สอง ยกขาขวาขนานพื้น สลับข้าง และท่าสุดท้ายยกสองขา
4. กลุ่มท่าบริหารสะโพก ขา เข่า
• ยืนเอามือจับพนักเก้าอี้ ถอยเท้าไปเพื่อก้มตัวลงจนลำตัวขนานกับพื้น แล้วกระดกปลายเท้าขึ้นมาจนน่องตึง ค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• ย่อเขย่งโดยยืดหลังให้ตรงไว้ ค้างไว้ 5 ลมหายใจ ทำซ้ำอีกรอบ
• ก้าวเท้าขวาออกมาข้างหน้า มือยังจับพนักพิงเป็นท่าเตรียม หายใจเข้า ย่อเข่าขวา ส่วนขาซ้ายตึง พร้อมกับยกแขนซ้ายขึ้น ตามองปลายมือ ค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• กลับสู่ท่าเตรียม แล้วย่อเข่าเหมือนท่าแรก หายใจออกพร้อมกับวาดแขนขวาบิดตัวไปด้านหลัง แล้วค้างไว้ 5 ลมหายใจ
• กลับสู่ท่าเตรียม ขยับตัวออกไปทางซ้าย เปิดปลายเท้าซ้ายออก หายใจเข้าพร้อมวาดแขนซ้ายขึ้น ตามองที่ปลายมือ แขนขวาเท้าที่พนักพิง ค้างไว้ 5 ลมหายใจ จากนั้นสลับข้าง
• บริหารช่วงท้อง นั่งในท่าเตรียม กำหมัดหลวมๆ วางไว้ที่ท้องน้อย หายใจเข้ายืดตัว หายใจออกก้มตัวลง ค้างไว้ 5-10 ลมหายใจ
5. กลุ่มท่าที่บริหารดวงตา
• บริหารดวงตา ทำช้าๆ อย่าง ละ 2รอบ กลอกตาขึ้น-ลง กลอกตาซ้าย-ขวา กลอกตาทแยง และกลอกตาเป็นวงกลม
• หายใจแบบ โยคี อนุโลม วิโลม นั่งหลังตรง ใช้มือขวาพับนิ้วชี้กับนิ้วกลางลง นำนิ้วโป้งมาปิดจมูกขวา หายใจเข้าจมูกซ้าย ทรวงอกขยาย นำนิ้วนางคู่กับนิ้วก้อยปิดจมูกซ้าย เปิดข้างขวา หายใจออก ทรวงอกยุบลง หายใจเข้าขวาโดยนิ้วอยู่เหมือนเดิม ทรวงอกขยาย ปิดขวาออกซ้าย ทั้งหมด 1รอบ ทำ 5-10รอบ
• ผ่อนคลายดวงตา ถูฝ่ามือเร็วๆ จนเกิดความร้อน หลับตาแล้วเอาฝ่ามือมาประคบดวงตา ปล่อยให้ความร้อนซึมผ่านหนังตา ความร้อนหมดทำซ้ำ
• ผ่อนคลายนั่งพิง พนัก วางมือไว้ที่หน้าตัก รู้สึกร่างกายไปกับลมหายใจ หายใจเข้า รับรู้ความรู้สึกจากปลายเท้า ปลายมือขึ้นมาจนถึงศีรษะ หายใจออก รับรู้ความรู้สึกกลับลงไป ทำ 10 รอบ
แมพ-สถิติ ศิริอุบล ครีเอทีฟ อายุ 24 ปี บอกว่า ด้วยอาชีพทำให้ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ก็มักจะมีอาการปวดเมื่อยร่างกาย ซึ่งโยคะเก้าอี้นี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นท่าบริหารร่างกายสำหรับคนออฟฟิศด้วย พอลองได้ร่วมกิจกรรมก็ทำให้ได้รู้เกี่ยวกับสภาพร่างกายว่าเราฟิตหรือไม่ โดยเฉพาะบางท่าทำให้ทราบเลยว่าร่างกายของเราไม่ค่อยยืดหยุ่น หลังแข็ง เส้นยึด ถือเป็นกิจกรรมดีๆ ที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ครับ
ฉัตรชัย นายฉัตรชัยการ พนักงานบริษัท อายุ 46 ปี บอกว่า โยคะเก้าอี้ทำให้ทราบวิธีช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อในร่างกาย เพราะเวลาทำงานมักจะปวดเมื่อย โดยเฉพาะแขน ซึ่งเราไม่ทราบสาเหตุว่าจริงๆ แล้ว พฤติกรรมการนั่งทำงานก็มีส่วน กิจกรรมนี้จึงช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เรารู้จักที่จะดูแลตัวเอง ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย เพราะว่าร่างกายจะเสื่อมลงทุกวัน และเราก็สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
น.ส.รัชนี รุ่งสิรินพคุณ พนักงานบริษัท อายุ 36 ปี เล่าว่า มีความสนใจในการเล่นโยคะอยู่แล้ว พอทราบข่าวการจัดกิจกรรมเลยสนใจเข้าร่วมดู ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่มาก เพราะเวลาทำงานไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย ขาดการออกกำลังกาย และมักปวดไหล่ ปวดคอ และปวดตา เวลาใช้งานคอมพิวเตอร์นานๆ พอทราบถึงวิธีบริหารเฉพาะจุดแบบนี้ ก็สามารถนำกลับไปทำตามบ้างถ้าไม่ขี้เกียจค่ะ
บทความสาระน่ารู้
"โยคะเก้าอี้" วิธีป้องกันและบรรเทาอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)