อายุรเวทวิทยาลัย
(ชีวกโกมารภัทจจ์)
ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
อายุรเวทวิทยาลัย เป็นชื่อโรงเรียนซึ่งเปิดสอนในหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์แห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเต็มๆ ว่า "อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัทจจ์) ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ" ได้รับการก่อตั้งโดยศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ทั้งนี้ ศ.นพ.อวย เล็งเห็นว่าแพทย์แผนไทยมีข้อดีมากมายโดยเฉพาะวิธีการรักษา แต่ยังบกพร่องตรงการวินิจฉัยโรคซึ่งยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้บางครั้งมีการวินิจฉัยผิดพลาดส่งผลถึงการรักษาและไม่ได้รับความเชื่อถือจากคนไข้ จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม ขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2523 และได้ก่อตั้งอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ขึ้นที่หน้าวัดบวรนิเวศ ในปี พ.ศ. 2525 เปิดสอนหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 3 ปี รับนักเรียนทั้งที่จบม.6 และผู้ที่จบปริญญาตรีมาแล้วเข้ารับการศึกษาในวิชาหลักทางด้านการแพทย์แผนโบราณของไทย ทั้งทางเวชกรรม เภสัชกรรม และผดุงครรภ์ ผสมผสานกับพื้นฐานการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา ชีวเคมี ฯลฯ ต่อมา วัดบวรฯ ขอพื้นที่ตั้งโรงเรียนคืน มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมจึงมีมติให้ย้ายโรงเรียนไปยังสถานที่ตั้งใหม่ ณ โรงเรียนสวนบัว ซอยราชครู เนื่องจากโรงเรียนอายุรเวทฯ มีการบริหารงานในรูปมูลนิธิเอกชนไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
หลังจาก ศ.นพ.อวย ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2533 ปัญหาต่าง ๆ ก็ตามมา โดยเฉพาะทางด้านการเงิน คณะกรรมการมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมจึงมีนโยบายร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ปรับหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์จากระดับปวส. เป็นหลักสูตรปริญญาตรีตามความต้องการของตลาดแรงงาน ในช่วงเดียวกันนี้ได้เกิดกระแสความตื่นตัวด้านแพทย์แผนไทย และอายุรเวทวิทยาลัยเป็นสถานการศึกษาขั้นสูงทางด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์แห่งแรกและแห่งเดียว ซึ่งมีความพร้อมทางด้านทรัพยากรทั้งอาจารย์ ตำรับตำรา เครื่องผลิตยา และองค์ความรู้ จึงมีหลายสถาบันได้เข้ามาทาบทามเข้าไปร่วมกันจัดตั้งคณะ อาทิ คณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมมีมติให้โอนโรงเรียนอายุเวทฯ ไปเป็นสาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2545
หลักจากเปิดรับนักศึกษาหลักสูตร ปวส.มาได้ทั้งหมด 20 รุ่น กว่า 700 คน ปัจจุบันสถานที่ตั้งโรงเรียนอายุรเวทที่โรงเรียนสวนบัว ซ.ราชครู เป็นที่ตั้งของสมาคมแพทย์อายุรเวทแผนไทยประยุกต์ฯ และคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์รับรักษาคนไข้ทั่วไปบริหารโดยสมาคมฯ ส่วนโรงงานผลิตยาและห้องสมุดซึ่งมีตำราเก่าแก่ด้านการแพทย์แผนไทยมากมายถูกโยกย้ายไปอยู่ที่สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หลักสูตรแพทย์อายุรเวท
เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาแพทย์อายุรเวท
ใช้เวลาเรียน 3 ปี เนื้อหาวิชาประกอบด้วย
- วิชาศาสตร์การแพทย์เพื่อเป็นรากฐานความรู้
- วิชาแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อเปรียบเทียบและเป็นแบบอย่างสำหรับการพัฒนา
- วิชาแพทย์แผนเดิมเพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติ
แพทย์อายุรเวทจะมีความสามรถ คือ
- ทางยา สามารถรักษาโรคทางยาโดยทั่วไป (ยกเว้นโรคติดเชื้อรุนแรง)
- ทางผ่าตัด สามารถทำผ่าตัดเล็กซึ่งไม่ต้องวางยาสลบหรือฉีดยาชา แต่งแผลได้ เย็บแผลได้
- โรคกระดูก เข้าเฝือกกระดูกหักสามัญได้ รักษาโรคกระดูกและโรคข้อที่ไม่ต้องผ่าตัด
- คลอดบุตร ทำคลอดปกติได้ ดูแลเด็กเกิดใหม่และมารดาหลังคลอด สามารถวินิจฉัยครรภ์ผิดปกติ (เพื่อส่งต่อให้แพทย์แผนปัจจุบัน)
- นรีเวชกรรม รักษาโรคเฉพาะสตรีภายนอก โรคระดูผิดปกติ วัยหมดระดู
- โรคเด็ก รักษาโรคเด็กสามัญ,รู้วิธีเลี้ยงทารกและเด็ก
- การนวด รู้วิธีนวด สามารถประยุกต์ในโรคต่าง ๆ รู้ข้อห้าม
- โรคตา-หู-คอ-จมูก รู้จักรักษาโดยใช้ยาไทย
"แพทย์อายุรเวท" ที่วิทยาลัยผลิตออกมานั้นจะเป็น "แพทย์แผนโบราณแบบใหม่" ซึ่งมีความรู้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานและสามารถปรับปรุงความรู้และความสามารถของตนให้มีระดับสูงขึ้นได้ "แพทย์อายุรเวท" จะช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์แผนปัจจุบันไปได้บางส่วนโดยไม่เป็นคู่แข่ง และช่วยเหลือรัฐบาลในความพยายามที่จะสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยสิ้นเปลืองน้อย
เรียบเรียงบทความ
"อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัทจจ์)
ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ"
โดยกองบรรณาธิการ
www.YesSpaThailand.com
.........................................................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.........................................................................................................
|