บทความ สาระน่ารู้
สปา นวดแผนไทย โยคะ
ความงาม สุขภาพ
นวดแผนไทย:
รากที่มาของ
เส้นประธานสิบ
|
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.............................................................................
|
เส้นประธาน คือ เส้นซึ่งเป็นหลักสำคัญของการนวดแผนไทย
เป็นทางเดินของลมซึ่งเป็นพลังภายใน ที่หล่อเลี้ยงร่างกายให้ทำงานได้ตามปรกติ
เชื่อว่ามีเส้นอยู่ในร่างกายถึง 72,000 เส้น แต่ที่เป็นเส้นประธานแห่งเส้นทั้งปวงมีเพียง 10 เส้น
ได้แก่ อิทา ปิงคลา สุมนา กาลทารี สหัสรังสี ทวารี จันทภูสัง รุชำ สิกขิณี สุขุมัง...
ในยุคกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893-2310)ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) มีหลักฐานปรากฏเป็นครั้งแรกในทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายพลเรือน (พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน) มีข้าราชการในกรมหมอนวด และมีตำแหน่งใกล้เคียงกับกรมแพทยาและกรมแพทยาโรงโอสถ 3 แต่ไม่พบหลักฐานตำราการแพทย์แผนไทยและการนวดไทย
หลักฐานตำราการแพทย์แผนไทยที่มีการเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาได้แก่ กำภีธาตุพระณะราย (ตำราพระโอสถพระนารายณ์) ซึ่งมีตำราพระโอสถหลายขนานที่ปรากฏชื่อหมอหลวงและวันคืนที่ตั้งพระโอสถจดไว้ ชัดเจนว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ.2202-22043 นอกจากนี้ มองสิเออร์ เดอลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในกรุงสยามระหว่างพ.ศ.2230-2231 ได้เขียนจดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดิน สมเด็จพระ นารายณ์มหาราช ตอนหนึ่งเกี่ยวกับหมอนวดไทยว่า “ชอบขยำบีบไปทั่วตัว เมื่อใครป่วยไข้ลงในกรุงสยาม บางทีก็ขึ้นเดินเอาเท้าเหยียบบนกายคนไข้ แม้ในสตรีก็พอใจให้เด็ก เหยียบที่หลังเพื่อให้คลอดบุตรง่าย”
ในยุคกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2311-2325) เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายหลังจากที่อาณาจักรอยุธยาล่มสลายไป ไม่ปรากฏหลักฐานการฟื้นฟูเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย สันนิษฐานว่า อาจเนื่องมาจากเป็นช่วงที่กำลังกอบกู้เอกราช และต้องทำสงครามกับพม่า อย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลนี้มีเจ้านายชั้นสูง 2 พระองค์ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์แผนไทยคือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์และสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภยพระราชโอรสในสมเด็จพระ เจ้าตากสินมหาราช และยังได้รับราชการต่อมาในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก่อนที่จะทรงถูกสำเร็จโทษในสมัยรัชกาลที่ 2
|
.............................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.............................................................................
|
ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325-ปัจจุบัน) การแพทย์แผนไทยได้รับการถ่ายทอดความรู้มาจากยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการถ่ายทอดจากหมอรุ่นก่อน และอีกส่วนหนึ่งได้มีการรวบรวมคัดลอกขึ้นใหม่โดยการเรียกประชุมหมอและผู้มี ความรู้นำตำรายาและคัมภีร์แพทย์ที่มีอยู่ตามวัด บ้านเรือนราษฎร ของหมอมาตรวจทาน แก้ไข เรียบเรียงขึ้นใหม่เป็นตำราในกรมหมอหลวง และต่อมาตำราเหล่านี้ได้แพร่หลายโดยทั่วไป
สมัยรัชกาลที่หนึ่ง (พ.ศ.2325-2352) ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโบราณชื่อวัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงให้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดฯ ให้รวบรวมจารึกตำรายาและฤๅษีดัดตนไว้ตามศาลาราย มีรูปหมอนวด ตำราแผนนวดเพื่อให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้แก่ไพร่ฟ้าประชาชน และต่อมาในสมัยรัชกาลที่สาม ทรงให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกครั้งในปี พ.ศ.2375โดยทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ซึ่งสมควรจะเล่าเรียนเป็นชั้นวิสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้างหรือประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง แล้วโปรดฯให้จารึกแผ่นศิลาประดับไว้ในวัด มีรูปเขียนและรูปปั้นประกอบตำรานั้นๆ เพื่อคนทั้งหลายไม่เลือกว่าตระกูลชั้นใดๆมีใจรักวิชาอย่างใดก็สามารถเล่า เรียนได้จากศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ จารึกวัดโพธิ์แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ วิชาฤๅษีดัดตน เวชศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และแผนนวด ซึ่งในแผนนวดมีภาพคนแสดงแผนนวด 60 ภาพ 4 และมีคำโคลงฤๅษีดัดตนทั้งหมด 80 ท่า ในตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11 (ฉบับพิมพ์ 2458) พระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) อดีตเจ้าเมือง จันทบูร ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้กล่าวถึง เส้นสิบว่า มี 10 เส้นได้แก่ อิทา ปิงคลา สุมนา กาลทารี สหัสรังสี ทวารี อุรัง (จันทภูสัง ลาวุสัง) สุขุมอุสะ มา (รุชำ อุลังกะ) รัตคินี (สิกขิณี สังคินี) กังขุง (สุขุมัง นันทกระหวัด) โดยให้ความสำคัญกับ 3 เส้นหลัก คือ เส้นซ้าย ชื่ออิทา เส้นขวาชื่อ ปิงคลา และเส้นกลาง ชื่อ สุมนา ดังนี้
"เส้นสามใครรู้ดี รู้วิธีเปนแลตาย กำกับสำหรับกาย ทุกหญิงชายไม่เว้นเลย"
สมัยรัชกาลที่ห้า (พ.ศ.2411-2453) ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมคณะแพทย์หลวง จัดหารวบรวมคัมภีร์แพทย์ในที่ต่างๆ มาตรวจสอบชำระให้ตรงกันกับฉบับดั้งเดิม คัมภีร์ที่ชำระแล้วเหล่านี้รวมเรียกว่า “เวชศาสตร์ฉบับหลวง” ซึ่งเป็นแบบฉบับของการสร้าง “ตำราฉบับหลวง” อันเป็นที่มาของตำราแพทย์ศาสตร์ สงเคราะห์ ที่เป็นตำราหลักในการศึกษาเล่าเรียนของแพทย์แผนไทยในยุคต่อมากระทั่งถึงปัจจุบัน ในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง ได้บรรยายทางเดินของเส้นประธานสิบไว้ โดยมีชื่อเส้นสิบดังนี้ อิทา ปิงคลา สุสุมนา กาลทารี สหัศรังสี ทวารี ลาวุสัง (คือ จันทภูสัง) อุลังกะ (คือ รุชำ) นันทกระหวัด (คือ สุขุมัง) และคิชฌะ โดยสรุป ตำราดั้งเดิมหลักของการนวดไทยที่มีหลักฐานการจารึกและบันทึกที่ชัดเจน มีดังนี้
ก. ภาพแผนนวด วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งรัชกาลที่หนึ่งได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจารึกไว้ เพื่อให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้แก่ไพร่ฟ้าประชาชน และต่อมาในสมัยรัชกาลที่สาม ทรงให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกครั้งในปี พ.ศ.2375 และทรงให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ จารึก โดยมีวิชาฤๅษีดัดตน เวชศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และแผนนวด ซึ่งในแผนนวดมีภาพคนแสดงแผนนวด 60 ภาพ และมีคำโคลงฤๅษีดัดตนทั้งหมด 80 ท่า
ข. ตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11 เรื่องกล่าวเส้นสิบ เรียบเรียงโดยพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) อดีตเจ้าเมืองจันทบูร ในสมัยรัชกาลที่ 21
ค. คัมภีร์แผนนวดเล่ม 1-2 ในเวชศาสตร์ฉบับหลวง (รัชกาลที่ 5) เมื่อพิจารณาเส้นสิบจากตำราดั้งเดิมหลัก พบว่า ไม่มีการกล่าวอ้างถึงตำราการนวดไทยที่เก่าแก่เกินกว่านั้น จึงต้องพิจารณาว่า เส้นสิบนั้นมีความใกล้เคียงกับตำราอื่นใด หรือองค์ความรู้ใดอย่างไรข้อสังเกตเบื้องต้น พบว่า ทฤษฎีเส้นประธานสิบมีหลายสิ่งที่ใกล้เคียงกับโยคศาสตร์ของอินเดีย ได้แก่
1. ตำราการนวดไทยกล่าวว่า เส้นซึ่งเป็นทางเดินของลมนั้น ตรงกับโยคศาสตร์ที่กล่าวถึง นาฑี (Nadi อ่านออกเสียงว่า นาดี) ว่าเป็นช่องทางผ่านของพลังปราณ
2. ตำราการนวดไทยเชื่อว่ามีเส้นทางเดินของลมอยู่ในร่างกายถึง 72,000 เส้น ซึ่ง ตรงกับโยคศาสตร์ของอินเดีย ที่กล่าวว่า ทางเดินของปราณนั้นมีมากมายถึง 72,000 เส้น บางคัมภีร์ว่ามี 350,000 เส้น แล้วแต่คัมภีร์แต่ไม่มีการอธิบายว่ามีการนับจำนวนเส้นอย่างไร
3. ทางเดินหรือนาฑีในโยคศาสตร์นั้น มี 14 เส้น ที่สำคัญได้แก่ Ida (อิฑา), Pingala (ปิงคลา), Sushumna (สุษุมนา), Sarasvati, Varuni, Pusha, Hastijhva, Yavasvini, Visvodara, Kuhu, Shankini, Payasvini, Alamousha, Gandhari.9 ซึ่งมีชื่อของทางเดินที่ตรงกับเส้นสิบของไทย 3 เส้น คือ อิทา ปิงคลา สุสุมนา (สุมนา) ส่วน Ganhari (คานธารี) นั้น ออกเสียงคล้ายกับเส้นกาลทารีหรืออาจเป็นชื่อเดียวกัน แต่แนวทางเดินของเส้นไม่เหมือนกัน
4. ตำราการนวดไทยกล่าวถึงเส้นที่สำคัญ 3 เส้นหลัก คือ อิทา ปิงคลา และสุมนา ซึ่งตรงกับ นาฑี อิฑา ปิงคลา และ สุษุมนา ซึ่งเป็นนาฑี 3 เส้นหลักที่เชื่อมต่อจักระทั้ง 7 (มูลา ธาระ จักระ, สวาธิษฐานะ จักระ, มณิปุระ จักระ, อนาหตะ จักระ, วิศุทธะ จักระ หรือวิศุทธิ จักระ, อาชญา จักระ หรืออาชญะ จักระ บวกตำแหน่ง สูงสุด คือ สหสราระ)
5. ตำแหน่งหรือทางเดินของเส้นอิทาของการนวดไทย อยู่ทางซ้ายของร่างกาย เริ่มต้นจากข้างสะดือด้านซ้าย 1 นิ้วมือ แล่นลงไปบริเวณหัวเหน่า ลงไปต้นขาซ้ายด้านในค่อนไปด้านหลัง แล้วเลี้ยวขึ้นไปแนบข้างกระดูกสันหลังด้านซ้ายขึ้นไปบนศีรษะ แล้วกลับลงมาสิ้นสุดที่ข้างจมูกซ้าย ตำแหน่งหรือทางเดินของเส้นปิงคลา ของการนวดไทยอยู่ทางขวาของร่างกาย เริ่มต้นจาก ข้างสะดือข้างขวา 1 นิ้วมือ แล่นลงไปตาม แนวทางเหมือนเส้นอิทา แต่อยู่ด้านขวา และสิ้นสุดที่ข้างจมูกขวา นาฑีอิฑาและปิงคลาของโยคะจะแล่นไขว้กันหรือเวียนไปรอบแกนกลางของร่างกาย (ซึ่งตรงกับตำแหน่งของกระดูกสันหลัง) ตำแหน่งที่นาฑีทั้งสองไขว้กันคือสิ่งที่เรียกว่า “จักระ” ซึ่งแปลว่า กงล้อหรือการหมุน จะเห็นว่า เส้นอิทาและปิงคลาของการนวดไทย จะอยู่ในแนวกึ่งกลางลำตัวของร่างกายเพียงแต่อยู่ด้านซ้ายและขวา ในขณะที่นาฑี อิฑา และปิงคลาของโยคะจะไขว้กันในแนวกึ่งกลางลำตัว
6. ตำราการนวดไทยกล่าวว่า เส้นอิทา มีลมจันทะกาลาเป็นลมประจำเส้น ซึ่งตรงกับโยคศาสตร์ที่กล่าวว่า นาฑีอิฑาคือ นาฑีที่เป็นช่องให้พลังเย็นแห่งดวงจันทร์ไหลเวียนไปในร่างกาย และจันทระ เภทนะ ปราณายามะ เป็นการหายใจเข้าทางรูจมูกซ้ายหรือช่องพระจันทร์ ซึ่งเป็นช่องทางของนาฑีอิฑา
7. ตำราการนวดไทยกล่าวว่า เส้นปิงคลา มีลมสูรย์กาลา (สูรยะ กะลา หรือ สูรยะ กลา) (Soorya Kalaa) เป็นลมประจำเส้น ซึ่งตรงกับโยคศาสตร์ที่กล่าวว่า นาฑีปิงคลา คือ นาฑี ที่พลังร้อนไหลไปในร่างกาย และ สูรยะ เภทนะ ปราณายามะ เป็นการหายใจเข้าทางรูจมูกขวา หรือ ช่องสุริยะ ซึ่งเป็นช่องทางของนาฑีปิงคลา
8. ตำแหน่งหรือทางเดินของเส้นสุมนา ของการนวดไทยอยู่ตรงกลางของร่างกาย จากเหนือสะดือ 2 นิ้วมือ แล่นขึ้นไปภายในอก ผ่านลำคอขึ้นไปสิ้นสุดที่โคนลิ้น ใกล้เคียงกับนาฑีสุษุมนาของโยคศาสตร์ที่เชื่อมจักระทั้ง 7 ในแนวตรงกลางของร่างกาย ในทางโยคศาสตร์ บางตำราถือว่า นาฑีสุษุมนาเป็นเส้นที่สำคัญที่สุดใน 3 เส้นหลัก
9. เส้นประธานทั้งสิบมีจุดเริ่มต้นที่รอบ สะดือ ซึ่งตรงกับตำแหน่งจักระชื่อ มณิปุระ ซึ่ง ตั้งอยู่หน้ากระดูกสันหลังระดับสะดือ ตรงกับ Solar Plexus (บริเวณ Lumbar Plexus และต่อมหมวกไต) ศูนย์นี้จะควบคุมระบบการย่อยอาหาร ควบคุมพลังขับเคลื่อนในการทำกิจกรรมต่างๆ อารมณ์ที่ไม่ดี ความคิดสร้างสรรค์ความรู้สึกเด่น ความสามารถพิเศษต่างๆ จากข้อค้นพบเบื้องต้น เชื่อว่า องค์ความรู้การนวดไทยมีรากที่มาจากโยคศาสตร์ โดยอาจเกี่ยวโยงกับฤๅษีดัดตนที่รัชกาลที่หนึ่ง ทรงพระราชทานไว้ ณ วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องนี้ว่า ทรงเคยเห็นรูปปั้นฤๅษีบำเพ็ญตบะในพิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดียทำท่าทางต่างๆ เหมือนอย่างรูปฤๅษีดัดตนในวัด พระเชตุพนฯ จึงสันนิษฐานว่า ท่าฤๅษีดัดตนของไทยได้ต้นแบบมาจากฤๅษีในยุคอินเดียโบราณ แต่มีวัตถุประสงค์ต่างกันกล่าวคือ ของอินเดียเป็นแบบท่าต่างๆ ที่พวกดาบสใช้ดัดตหลังจากอยู่ในอาสนโยคะท่าใดท่า หนึ่งเป็นเวลานานในการบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุโมกขธรรม แต่ของไทยนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้โรคเมื่อยที่จารึกไว้ใน “โคลงฤๅษีดัดตน” สมัยรัชกาลที่สาม
อย่างไรก็ตาม ไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับเส้นประธานอื่นๆ นอกเหนือจากเส้น อิทา ปิงคลา สุมนา ว่ามีที่มาจากที่ใด รวมทั้งตำราการนวดไทยมีการกล่าวถึงจุดต่างๆ ในแผนนวดที่ใช้รักษาอาการต่างๆ และการที่เส้นสัมพันธ์กับกองธาตุสมุฏฐานต่างๆ ที่ กำเริบ หย่อน พิการ ฤดูกาล ซึ่งในโยคศาสตร์ไม่มีการกล่าวถึง แต่เป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสมุฏฐานวินิจฉัย ซึ่งเข้าใจว่า หมอนวดไทยได้นำองค์ความรู้ จาสมุฏฐานวินิจฉัยมาประยุกต์และพัฒนาจนกลายเป็นภูมิปัญญาการนวดไทยในภายหลัง ทั้งนี้เพราะการนวดในอายุรเวทเป็นการนวดด้วยน้ำมันและเป็นส่วนหนึ่งของปัญจ กรรมะ ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงเส้นประธานสิบหรือนาฑีทั้ง 14 ตามแบบโยคศาสตร์
ควรมีการสืบค้นหลักฐานเชิงประจักษ์เพิ่มเติมที่แสดงหรือเชื่อมโยงถึงรากที่มาของเส้นประธานสิบของการนวดแผนไทย หรืออาจทำการวิเคราะห์ถึงองค์ความรู้ในแผนนวดที่มีอยู่ เพื่อทำความชัดเจนถึงรากที่มาของภูมิปัญญาการนวดแผนไทยอย่างถ่องแท้ และขจัดมิจฉาทิฐิเกี่ยวกับองค์ความรู้การนวดแผนไทยทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาอัน เนื่องจากอวิชชาหรืออหังการมบังการผู้เขียนขอขอบคุณนายแพทย์ แพทย์พงษ์วรพงศ์พิเชษฐและอาจารย์ธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ที่ได้ให้ความรู้ ความกระจ่างและความคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับโยคศาสตร์กับการนวดแผนไทย
บทความสาระน่ารู้
• นวดแผนไทย-รากที่มาของเส้นประธานสิบ
ที่มา:
ประพจน์ เภตรากาศ การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก