บทความ สาระน่ารู้
สปา นวดแผนไทย โยคะ
ความงาม สุขภาพ
การแพทย์แผนไทย
และแพทย์ทางเลือก
ในการรักษาผู้ป่วย
อัมพฤกษ์ อัมพาตจาก
โรคหลอดเลือดสมอง
|
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.............................................................................
|
การแพทย์แผนไทย “3 ประสานรักษาอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง” คือ การใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทั้งการนวดหรือการใช้สมุนไพร ผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันในการบำบัดรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์หรืออัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง
ข้อควรระวังในการนวด
1. ผู้นวดจะต้องเป็นผู้ที่จบหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทยขึ้นไป ผ่านการอบรม 330 หรือ 372 ชั่วโมง
2. ระยะเฉียบพลัน ไม่ควรรับการรักษาด้วยการนวดอย่างเดียว เพราะไม่สามารถรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางแผนปัจจุบันเป็นหลัก
3. ผู้ป่วยต้องมีสัญญาณชีพ (vital sign) คงที่ เช่น ไม่มีไข้ ชีพจรปกติ ความดันเลือดปกติ การหายใจปกติ มีความผิดปกติของระบบประสาทคงที่และไม่มีอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
4. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เป็นอันตราย เช่น โรคหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ โรคลมชัก ฯลฯ ควรหลีกเลี่ยงการนวดหรือปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันก่อน
5. ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านลิ่มเลือดแข็งตัว การนวดมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกผิดปกติ
6. หลีกเลี่ยงการดึงดัด เช่น การนวดหัวไหล่ไม่ควรทำการดัด โดยเฉพาะท่าดัดแขนไปข้างหลัง หรือหมุนแขนเข้าแล้วดัดขึ้นข้างบนซึ่งทำให้หัวไหล่เจ็บ อักเสบ หรือเคลื่อนหลุดมากขึ้น
7. บริเวณที่ควรหลีกเลี่ยงการนวด ได้แก่
• บริเวณด้านหน้าของคอ เนื่องจาก มีเส้นเลือดแดงใหญ่ การนวดกดตำแหน่งนี้ทำให้หน้ามืดหัวใจเต้นช้า ความดันเลือดลดลงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
• ฐานของคอเหนือกระดูกไหปลาร้าขึ้นมา ไม่ควรทำการนวด อาจมีผลทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนี้อักเสบและบวมใหญ่ขึ้น
• รักแร้ เป็นบริเวณที่มีเส้นเลือด และปมประสาทมากมาย การกดบริเวณนี้ ต้องระมัดระวังอย่างมาก ถ้าเกิดอาการเสียวแปลบลงที่แขน แสดงว่ากดถูกเส้นประสาท
• บริเวณที่มีการอักเสบ, บวมน้ำแบบกดบุ๋มจากภาวะไตทำงานผิดปกติ, บวมจากเส้นเลือดดำส่วนลึกหรือท่อน้ำเหลืองอุดตัน
• บริเวณที่เป็นแผลเปิด แผลกดทับ แผลพุพอง ฝีหนอง
• แผลที่เกิดจากมะเร็งและในผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะแพร่กระจายของมะเร็งบางชนิด
|
.............................................................................
โฆษณา-ลิงก์ผู้สนับสนุน
.............................................................................
|
ประโยชน์ในการนวด
สามารถช่วยลดลดอาการปวด ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว หรือจะลดอาการบวม ชา ที่ไม่ได้เกิดการอักเสบ ทำให้มีการเคลื่อนไหวในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น
การนวดสัมผัสบริเวณมือและแขน
ท่าที่ 1
นวดคลายกล้ามเนื้อฝ่ามือผู้ป่วยหงายมือ ผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดซ้อนกัน จุดฝ่ามือที่ 1 อยู่บนเนินใหญ่ของฝ่ามือ จุดที่ 2 อยู่กลางฝ่ามือตรงบริเวณนิ้วกลาง และจุดที่ 3 อยู่บริเวณเนินเล็กของฝ่ามือตรงบริเวณ
ท่าที่ 2
นวดคลายกล้ามเนื้อแขนด้านใน 1 และ 2 ผู้ป่วยหงายมือ ผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือกดตรงตำแหน่งแนวแขนด้านใน 1 (แนวนิ้วกลาง) เริ่มจากเหนือข้อมือ ใช้สองนิ้วกดนวดไล่เรียงขึ้นไปจนถึงต้นแขน และนวดและนวดแนวแขนด้านใน 2 (แนวนิ้วก้อย)นวดลักษณะเช่นเดียวกับแนว 1 โดยเว้นการกดบริเวณข้อพับแขน
ท่าที่ 3
นวดคลายกล้ามเนื้อหลังมือ ผู้ป่วยคว่ำมือ ผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดซ้อนกันตรงจุดที่ 1 บริเวณง่ามระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ และกดจุดหลังมือ 2, 3, 4 บริเวณร่องระหว่างโคนนิ้ว
ท่าที่ 4
นวดคลายกล้ามเนื้อแขนด้านนอก 1, 2 ผู้ป่วยคว่ำมือ ผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือกดตรงตำแหน่งนวดแขนด้านนอก 1 (แนวนิ้วกลาง) เริ่มต้นจากเหนือข้อมือเล็กน้อยกดนวดไร่เรียงขึ้นไปจนถึงต้นแขน และนวดแนวแขนด้านนอก 2 (แนวนิ้วก้อย) นวดลักษณะ เช่นเดียวกับแนว 1 โดยเว้นการนวดบริเวณข้อศอก
ท่าที่ 5
ลูบเอาใจ ผู้ป่วยหงายมือ ผู้นวดบีบน้ำมันใส่ฝ่ามือ ชโลมน้ำมันให้ทั่วฝ่ามือ แล้วใช้อุ้งมือขวาและอุ้งมือซ้ายวางบนแขนผู้ป่วยออกแรงกดเบาๆ กดนวดไร่เรียงขึ้นไปจนถึงต้นแขน จากนั้นหมุนฝ่ามือโอบข้างต้นแขนรูดลงมาจนถึงข้อมือ ทำ 3-4 รอบ
ท่าที่ 6
วนก้นหอย สลับกันเป็นก้นหอยตามแนวกึ่งกลางแขนกึ่งกลางแขนด้านใน เริ่มตั้งแต่บริเวณเหนือข้อมือ นวดไล่ เรียงขึ้นไปจนถึงต้นแขน ทำ 3-4 รอบ เว้นบริเวณใต้พับแขน (นวดวนก้นผู้ป่วยหงายมือ ผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดนวดวนหอยจะนวดทั้งแนวแขนด้านใน 1, 2)
ท่าที่ 7
รีดกล้ามเนื้อแขนด้านในผู้ป่วยหงายมือ ผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือกดตรงตำแหน่งกึ่งกลางแขนด้านในบริเวณเหนือข้อมือ กดนวดรีดขึ้นไปจนถึงกึ่งกลางแขนด้านล่าง และกดนวดรีดขึ้นไปจนถึงใต้ข้อพับแขน เว้นบริเวณข้อพับแขน จากนั้นกดนวดรีดขึ้นไปจนถึงต้นแขน ทำ 3-4 รอบ (นวดรีดกล้ามเนื้อแขนด้านใน)
การนวดสัมผัสบริเวณขาท่านอนหงาย
ท่าที่ 1
นวดคลายกล้ามเนื้อขาแนวที่ 1 ชิดกระดูกสันหน้าแข้งผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างวางคู่กัน กดบนแนวกล้ามเนื้อชิดกระดูกสันหลังหน้าแข้งแนวที่ 1 (ชิดกระดูกสันหน้าแข้ง) กดเรียงลงไปถึงข้อเท้า และ กดเรียงนิ้วขึ้นจาก 2 นิ้วเหนือเข่า ไปถึงต้นขา โดยใช้นิ้วทั้งสี่ประคอง
ท่าที่ 2
นวดคลายกล้ามเนื้อขาแนวที่ 2, 3 ช่วงสันหน้าแข้งผู้นวดพลิกกลับมือ โดยนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างชี้ลง นวดแนวกล้ามเนื้อแนวที่ 2, 3 (ห่างจากกระดูกสันหน้าแข้ง 1 และ 2 นิ้วมือตามลำดับ เว้นข้อเข่าลงมาประมาณ 2 นิ้วมือ กดเรียงนิ้วลงไปถึงข้อเท้าและกดเหนือข้อเข่า 2 นิ้วมือ กดเรียงนิ้วขึ้นไปจนถึง
ท่าที่ 3
ลูบเอาใจ ผู้นวดบีบน้ำมันใส่ฝ่ามือ ทำการชโลมน้ำมันให้ทั่วด้วยท่าลูบเอาใจ คือใช้อุ้งมือขวาและอุ้งมือซ้ายวางบนขาผู้ป่วยออกแรงเบาๆ นวดไร่เรียงขึ้นไปจนถึงต้นขา จากนั้นหมุนฝ่ามือโอบข้างต้นขาลูบลงมาจนถึงข้อเท้า ทำท่าลูบเอาใจ 3-4 รอบ
ท่าที่ 4
วนก้นหอยแนวสันหน้าแข้ง*** ผู้นวดใช้หัวแม่มือทั้งสองข้างกดนวดวนเป็นก้นหอยเริ่มตั้งแต่แนวสันหน้าแข้งด้านนอกและด้านในเหนือข้อเท้า กดนวดไล่ขึ้นไปจนถึงข้อเข่า และนวดบริเวณเหนือข้อเข่า 2 นิ้วมือ กดเรียงนิ้ววนเป็นก้นหอยขึ้นไปจนถึงต้นขา ทำ 3-4 รอบ
ท่าที่ 5
รีดกล้ามเนื้อขาด้านนอกผู้นวดใช้มือซ้ายจับบริเวณข้อเท้าผู้ป่วย ส่วนมือขวาใช้นิ้วหัวแม่มือกดตรงตามตำแหน่งแนวสันหน้าแข้งด้านนอก กดนวดรีดขึ้นไปจนถึงข้อเข่า และนวดบริเวณเหนือข้อเข่า 2 นิ้วมือ นวดรีดขึ้นไปจนถึงข้อขาทำ 3-4 รอบ จากนั้นเปลี่ยนสลับมือรีดขาด้านใน ทำเช่นเดียวกับขาด้านนอก
ท่าที่ 6
รีดกล้ามเนื้อขาด้านในท่อนล่างผู้ป่วยนอนหงายงอเข่าข้างที่นวด ผู้นวดใช้ส้นมือกดรีดบริเวณแนวขาด้านในท่อนล่างแนว 1, 2 (ชิดกระดูกหน้าแข้งด้านในและห่างจากกระดูกหน้าแข้งด้านใน 1 นิ้วมือ) กดตั้งแต่ใต้ข้อพับเข่าลงมา ไปถึงข้อเท้า ทำ 3-4 รอบ
ท่าที่ 7
รีดกล้ามเนื้อขาด้านในท่อนบนผู้ป่วยนอนหงาย งอเข่าข้างที่นวด ผู้นวดใช้ส้นมือกดรีดตรงบริเวณแนวขาด้านในท่อนบนแนว1, 2 (ดังท่าที่ 6) กดตั้งแต่เหนือข้อพับเข่าขึ้นไปถึงต้นขา ทำ 3-4 รอบ
การนวดสัมผัสบริเวณขาท่านนอนตะแคง
ท่าที่ 1
รีดกล้ามเนื้อขาด้านนอกท่อนล่างผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือกดรีดตรงบริเวณแนวขาด้านนอกท่อนล่างแนว 1, 2, 3 (ชิดกระดูกสันหน้าแข้งด้านนอก, ห่างจากสันหน้าแข้ง 1 นิ้วมือและ 2 นิ้วมือตามลำดับ) กดรีดตั้งแต่ใต้ข้อพับเข่าลงไปถึงข้อเท้า ทำ 3-4 รอบ
ท่าที่ 2
รีดกล้ามเนื้อขาด้านนอกท่อนบนผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ผู้นวดใช้ส้นมือกดรีดตรงบริเวณแนวขาด้านนอกท่อนบนแนว 1, 2, 3 (ดังท่าที่ 1) กดรีดตั้งแต่เหนือข้อพับเข่าขึ้นไปถึงต้นขา ทำ 3-4 รอบ
การนวดสัมผัสบริเวณหลังท่านอนตะแคง
ท่าที่ 1
นวดคลายกล้ามเนื้อหลัง แนว 1, 2 ผู้ป่วยนอนตะแคงาข้าง ผู้นวดใช้ส้นมือกดลงเบา ๆ แนว 1 (ชิดกระดูกสันหลัง) และ แนว 2 (ห่างจากกระดูกสันหลัง 1 นิ้วมือ) นวดจากหลังช่วงเอวขึ้นไปจนถึงช่วงบ่า ทำทั้งสองข้างเหมือนกัน
ท่าที่ 2
วนก้นหอยชิดแนวกระดูกสันหลัง แนว 1 ผู้ป่วยนอนตะแคงในลักษณะเดิม ผู้นวดบีบน้ำมันใส่ฝ่ามือ ชโลมให้ทั่วแผ่นหลัง ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดวนเป็นก้นหอยชิดแนวกระดูกสันหลัง แนว 1 เริ่มต้นนวดจากหลังช่วงเอวกดนวดขึ้นไปจนถึงแนวบ่า
ท่าที่ 3
วนก้นหอยห่างจากแนวกระดูกสันหลัง 1 นิ้วมือ แนว 2ผู้ป่วยนอนตะแคงในลักษณะเดิม ผู้นวดใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างกดนวดวนเป็นก้นหอยห่างจากแนวกระดูกสันหลัง 1 นิ้วมือ เริ่มต้นนวดจากหลังช่วงเอวกดนวดขึ้นไปจนถึงแนวบ่า
อย่างไรก็ดีการนวด ในระยะที่กล้ามเนื้อมีการหดเกร็ง (Spasticity) โดยเฉพาะในบางบริเวณ เช่น ฝ่ามือ แขนด้านใน ข้อพับศอกด้านใน ต้นขาด้านหน้า และฝ่าเท้า สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการรักษามากกว่าผลดี จึงควรหลีกเลี่ยงการนวดในกรณีดังกล่าว
บทความสาระน่ารู้
การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง